สนค.ชี้ภัยแล้งดันราคาขนส่งสินค้าทางทะเลพุ่ง

  • คาดปี 67 ยังขึ้นต่อเนื่องเพิ่มต้นทุนผู้ส่งออก
  • เหตุคลองปานามาน้ำลดต่ำสุดรอบ 7 ปี
  • ปานามาขึ้นค่าธรรมเนียมผันน้ำ-สายเดินเรือขึ้นค่าขนส่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ศึกษาผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้งจากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่มีต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พบว่า มีการคาดการณ์กันว่า เอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ปี และหากในปี 67 เอลนีโญยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวและเติบโตมากกว่า ปี 66 และทำให้ความต้องการซื้อสินค้า ความต้องการใช้เรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์กลับมาเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมถึงค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้น และเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่งผลกระทบให้ปริมาณฝนของปานามาในปี 66 น้อยกว่าค่าปกติ และทำให้น้ำในคลองปานามาลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี จนรัฐบาลปานามาต้องปรับลดระดับเพดานสูงสุดของอัตรากินน้ำลึกของเรือขนส่งสินค้า และเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการผันน้ำสูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.99% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 2-4% ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้สายการเดินเรือ ที่ใช้เส้นทางนี้ ต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เรือลอยได้สูงขึ้นและขึ้นค่าธรรมเนียมการขนส่งสินค้าตาม

“ถือเป็นต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น และหากภัยแล้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 67 ก็มีโอกาสที่สายการเดินเรือยังขึ้นค่าขนส่งได้อีก จึงอยากแนะนำให้ภาคเอกชนติดตาม สภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะมีผลต่อการขนส่งสินค้าเป็นระยะๆ เพื่อปรับตัวและเตรียมกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อรับมือให้ทัน”

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า ไทยใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า มีมูลค่าการค้ารวม 17,912.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยขนส่งไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถบรรทุกหรือรถบัส ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์นั่ง และปลาทูน่าปรุงแต่ง นอกจากนี้ไทยยังใช้คลองปานามาในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่อยู่ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิลเวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนช์เกียนา รวมถึงประเทศในทะเลแคริบเบียน และอเมริกากลาง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 66 สำนักงานบริหารคลองปานามา ได้ปรับลดระดับเพดานสูงสุดสำหรับเรือขนาดใหญ่แล้ว 9 ครั้งโดยปัจจุบันได้ลดระดับเพดานสูงสุดมาเหลืออยู่ที่ 44.0 ฟุต หรือ 13.41 เมตร จากเดิมอยู่ที่ 50 ฟุต 15.24 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงที่ท้องเรือติดก้นคลอง และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้จากน้ำหนักบรรทุกที่มากเกินไป รวมถึงได้เพิ่มค่าธรรมเนียมผันแปร Fresh Water Surcharge ที่ต้องผันน้ำจากทะเลสาบกาตุนเข้าสู่คลองปานามาในช่วงที่น้ำลดต่ำลงมาก ทำให้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์ในต่างประเทศ ประเมินว่า เรือขนส่งสินค้าจำเป็นต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ลงประมาณ 40% และเพิ่มจำนวนเรือขนส่งให้มากขึ้น เพื่อกระจายน้ำหนักสินค้า รวมถึงขึ้นค่าขนส่ง