

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดซื้อชุดตรวจแอนตเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) ยี่ห้อเล่อปู๋ (LEPU) จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ในราคาชุดละ 70 บาท ให้สำนักงานหลักประกันาสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปแจกประชาชนเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการนำไปใช้ในหลายประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนามจัดซื้อกับบริษัทที่ชนะการประกวดราคา ต่อชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดเผยอีกว่าให้สังคมจับตา เนื่องจาก สธ.มีการจัดสรรงบประมาณอีก 180 ล้านบาท ให้ อภ.จัดซื้อเอทีเคอีกล็อตนั้น
วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าที่ประชุม EOC สธ.ให้มีการซื้อชุดตรวจเอทีเคสำหรับบุคลากรการแพทย์ งบประมาณประมาณ 180 ล้านบาท ว่า เป็นแผนงานที่ขอจากรัฐบาลนานแล้ว เนื่องจากกรมควบคุมโรค มีข้อกำหนดให้เพิ่มการคัดกรองในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้แยกผู้ติดเชื้อเร็ว และได้เข้ารับการรักษา ซึ่งในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขนั้น ในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยนั้นมีการระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีการติดเชื้อได้ รวมถึงกรณีที่อาจจะมีการติดในบุคคลากรกันเองด้วย
“สธ.จึงมีนโยบายให้ตรวจด้วยเอทีเคในกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยนำร่องทดลอง 4-5 สัปดาห์ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. และ รพ.โรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองบุคลากรในเบื้องต้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณนั้น มีกองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งโดยปกติ กบรส. ก็ร่วมกับ อย. และ อภ. ในการบริหารคลังอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และอื่นๆ เป็นต้น ที่จัดซื้อและกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องก็จะออกข้อกำหนดในการซื้อเอทีเคอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผอ.กบรส. กล่าวว่า งบประมาณ 180 ล้านบาท นั้น เป็นงบกลางปี 2564 ที่ ครม.อนุมัติให้มาแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันการจัดสรรงบฯ ดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ ซึ่งหากส่งมาแล้วคาดว่าในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของเอทีเคที่จะใช้ ซึ่งตามหลักผู้ใช้สามารถ ซึ่งคือ สธ.สามารถกำหนดสเปกได้ แต่ กบรส.ก็ต้องมีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณา อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ
“ที่มีการหารือกันในเบื้องต้นนั้น เป็นเอทีเคสำหรับให้ประชาชนตรวจด้วยตัว หรือ โฮม ยูส เพราะบุคลากรก็คือ ประชาชนคนหนึ่ง และมีหลายส่วนงาน ดังนั้น จึงใช้ชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เอง ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นยี่ห้อท็อปตัวไหนเป็นพิเศษ แต่ให้เป็น เอทีเคที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย. ของไทยแล้ว” นพ.กรกฤช กล่าว