สธ.เตรียมเปิด 15 จว. แซนด์บ็อกซ์ เดินหน้าโรคประจำถิ่น ชี้โควิดภาคใต้ขาลงจริง

  • เล็งสงขลา นำร่องเปิดเมือง
  • ระยะขาลงเฉลี่ยเหลือวันละ 1,100 ราย
  • ชี้ไม่ได้เกิดจากการตรวจน้อยลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19(ศบค.) เปิดเผยข้อมูลว่าสำหรับการเตรียมทำโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ขณะนี้มี 12 จังหวัดที่อยู่ในระยะขาลง (Declining) ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่มีความเป็นกังวลว่าหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปรากฏว่าจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สงขลา ยะลา ปัตตานี เป็นต้น ที่มีการติดเชื้อสูงตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ยทั้งเขตฯ 12 วันละ 3,000 ราย พอหลังเทศกาลสงกรานต์ก็เริ่มเข้าสู่ระยะขาลง เฉลี่ยเหลือวันละ 1,100 ราย มีบางจังหวัดที่การติดเชื้อยังสูงอยู่ เช่น พัทลุง ติดเชื้อวันละมากกว่า 100 ราย

นพ.สุเทพ กล่าวว่า การที่ตัวเลขติดเชื้อลดลง ไม่ได้เกิดจากการตรวจน้อยลง เพราะตัวเลขสอดคล้องกับผู้ป่วยครองเตียงในสถานพยาบาล ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ลดลงเช่นกัน จากที่เคยเห็นว่าจังหวัดทางภาคใต้ติด 1 ใน 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุด ตอนนี้ก็ไปอยู่ในลำดับที่ 70 ขึ้นไปแล้ว

สำหรับแผนการทำโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นนั้น ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แจ้งว่า ตอนนี้มี 15 จังหวัดที่สนใจและมีความพร้อมเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เส้นทางกรมควบคุมโรคก็ได้ทำหลักเกณฑ์เสร็จแล้ว แต่ต้องหารือกันในที่ประชุม EOC ของ สธ.อีกครั้งก่อน ยกตัวอย่างของภาคใต้ก็จะมี จ.สงขลา ที่มีความพร้อม เพราะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครอบคลุมเกือบ 80% และเข็มกระตุ้นอีกเกือบ 30% ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นการดึงความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่ก็อยากทำมาหากินเปิดการค้า กลับมาใช้ชีวิตได้

หลักเกณฑ์สำหรับการเป็นโรคประจำถิ่น จะดูจาก 1.จำนวนผู้ติดเชื้อต่อเคสต่อแสนประชากร 2.จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและการรองรับในแต่ละจังหวัด 3.อัตราการเสียชีวิตต้องต่ำกว่า 0.1% และ 4.ถ้าฉีดวัคซีนจะต้องครอบคลุมอย่างน้อย 80% โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงขึ้นก็คาดว่าวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะสามารถทำได้ตามแผนโรคประจำถิ่น

อย่างไรก็ตาม นพ.สุเทพ กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงจะต้องมากกว่า 60% การฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียนที่เริ่มฉีดเข็มแรกไปช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ขณะนี้ก็ต้องฉีดเข็มกระตุ้นก่อนเปิดเทอม และกลุ่มเด็กเล็ก 5-11 ปี ที่ฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้วประมาณ 50% ก็ต้องฉีดเข็มที่ 2 ตามมาด้วย