สธ.ยัน! โควิดโรคประจำถิ่น ปี 65 เร่งฉีดวัคซีนคนที่ยังไม่ฉีด 10 ล้านคนให้ได้ 5 ล้านคน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าในช่วงหนึ่งของงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2564 สื่อไทยในวิกฤตโควิด-19 เข้าใจ เรียนรู้ ปรับตัว โดยเชื่อว่าในปี 2565 โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ว่า ประเด็นนี้เป็นไปตามหลักการสากล เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โรคระบาดนั้นจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

“เป็นธรรมชาติของโรคอุบัติใหม่ พอผ่านไปประมาณ 1 ปี หรือผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และความรุนแรงของโรคนั้นลดลง ภูมิที่ได้ก็เป็นภูมิจากการฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น หากติดเชื้ออีกครั้ง ก็จะไม่ค่อยมีความรุนแรงมาก” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อปัญหาจากโรคลดลง แนวทางในการจัดการกับโรคก็จะเปลี่ยนไปด้วย

“มองไปถึงเดือนมกราคม 2565 ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป น่าจะรับมือได้ ให้เป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ต้องมีแนวทางที่ให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตกันอย่างเหมือนปกติที่สุด โดยจะต้องไม่ประมาทจนเกินไป แต่ก็ไม่เข้มจนทำอะไรไม่ได้” นพ.โสภณ กล่าว

ทั้งนี้ สธ.จะต้องหาแนวทางให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของมาตรการที่ให้สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ หลักๆ คือ จะต้องฉีดวัคซีนให้ครบ เพราะจะช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคได้ โดยขณะนี้ไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อประชาชนทั้งประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คาดว่ามีประชาชนที่ไม่ได้ไปเข้ารับวัคซีนอีกกว่า 10 ล้านคน สธ.จะจัดการอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับการจะทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. ได้ทำการประสานไปกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ จะมีข้อมูลว่า ใครยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็จะให้เชิญไปฉีดวัคซีน

“กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ คนที่ไม่สะดวก ผู้สูงอายุ หรือป่วยติดเตียง กลุ่มนี้จะประสานให้มีการนำวัคซีนเข้าไปหาถึงที่ ส่วนอีกกลุ่ม คือ คนที่ยังลังเล กลัว และคิดว่าตัวเองไม่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงใดๆ เลยไม่รับวัคซีน ตรงนี้เราจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจ และให้ข้อมูล อธิบายให้ชัดเจนถึงเหตุผลว่าทำไมต้องรับวัคซีน และวัคซีนมีผลอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีคนที่ฟังแล้วยอมไปรับวัคซีนมากขึ้น”

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากจำนวน 10 ล้านคน ที่ยังไม่รับวัคซีนนี้ คาดว่าจะสามารถทำให้ไปฉีดวัคซีนได้ถึง 5 ล้านรายขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายฉีดวัคซีนร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรในประเทศ ภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะเหลือเด็กเล็ก ที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีการรับรองและขึ้นทะเบียนให้ฉีด

“หลังจากฉีดวัคซีน เราจะมีความปลอดภัยมากขึ้น การเสียชีวิตก็จะลดน้อยลง อย่างวันนี้ที่เสียชีวิตไม่ถึง 50 ราย แสดงให้เห็นว่า พอรับวัคซีนแล้ว หลังจากได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อไม่เก่งเหมือนแต่ก่อนแล้ว” นพ.โสภณ กล่าว