

วันที่ 5 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การระบาดครั้งนี้ จะเห็นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโรค อย่างไรก็ตาม การระบาดยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัด ก็เป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น แม้จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแต่จังหวัดต่างๆ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีและสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้
ทั้งนี้ สธ. ไม่มีอำนาจโดยตรงในการดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก สธ.จึงเข้ามาช่วยเหลือดูแลกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีนโควิด-19 เพื่อการควบคุมโรคให้เร็วที่สุดและช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
โดยกรมควบคุมโรค ได้เสนอมาตรการปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ดังนี้ 1.ค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ ภายใน 2-3 สัปดาห์ของเดือนนี้ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยลดลง 2.การจัดการเตียง ขณะนี้มีมาตรการในการรองรับผู้เจ็บป่วย มีการดูแลที่บ้านที่มีระบบติดตามรักษา และเมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อไปรักษา
3.มาตรการวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข ปรับนโยบายวัคซีน โดยประการที่หนึ่ง สธ. เตรียมพร้อมจัดวัคซีนบูสเตอร์โดส (Booster dose) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) โดยการใช้วัคซีนจะต้องเป็นไปตามข้อมูลวิชาการ แต่ต้องให้ทันเวลา เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพร้อมในการปฏิบัติงานเต็มที่ ซึ่งจะมีแนวทางในการจัดบริการบูสเตอร์โดสต่อไป ประการที่สอง การให้วัคซีนแก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม เป็นอันดับแรก โดยต้องให้คนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มาในเดือนนี้ เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต เพราะข้อมูลพบว่า 2 กลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากที่สุด
และ 4.มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ โดยทันที เพื่อพยายามควบคุมโรค ให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง ทั้งนี้ มีการใช้มาตรการแนวทางแยกกักที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งจะมีระบบดูแลรักษาผู้ป่วย เราจะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย แต่หากมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อตามระบบต่อไป