สธ.ดีใจ! กักตัวที่บ้านเห็นผลเตียงคนไข้เริ่มว่าง วอนผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองย้ายไปรักษาที่รพ.



วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อนข้างคงที่ราว 2 หมื่นต่อวัน โดยวันนี้มีผู้ป่วยใหม่ 18,501 ราย ซึ่งหากรวมการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ก็เกือบๆ 2 หมื่นราย ขณะที่ผู้ป่วยหายเพิ่ม 20,606 ราย ก็มีส่วนหนึ่งเป็นการตรวจ ATK ที่ทำมาตรการแยกกักที่บ้าน ( Home Isolation) เช่นกัน

ดังนั้น รายงานทั่วประเทศมีผู้ป่วยหายป่วยเริ่มมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ ส่วนเตียงในต่างจังหวัดเริ่มตึง แต่ด้วยการบริหารที่เด็ดขาดโดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป รวมพลังและขยายเตียงไปที่ รพ.ชุมชนได้ ก็ปัญหาไม่มาก ก็ขอโฟกัสที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีเตียงว่าง เพราะมีการทำแยกกักที่บ้าน (HI) ระบบค่อนข้างไหลลื่นแล้ว

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รายงานว่าขยายคู่สาย 1330 เป็น 2,000-3,000 คู่สาย โดยข้อมูล ล่าสุดวันที่ 25 ส.ค. เวลา 18.22 น. ผู้แยกกักที่บ้านในกรุงเทพฯ ทั้งจากสายด่วน 1330, จุดตรวจเชิงรุกด้วย ATK, ตรวจ RT-PCR หรือ ATK โดยสถานพยาบาล หรือการตรวจ ATK ด้วยตัวเอง ยอดสะสม 87,023 ราย ส่วนที่จับคู่สถานพยาบาล (PUC) ได้แล้ว 86,188 ราย แปลว่าระบบค่อนข้างไหลลื่น และหาสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยแยกกักที่บ้านได้ ทั้งใน รพ.คลินิก มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ รพ.เอกชน รพ.ทหาร หรือ ตำรวจ

ดังนั้น ผู้ป่วยรายใหม่ของ กทม. ประมาณวันละ 2,400 ราย มีผู้ยินยอมทำแยกกักที่บ้านวันละ 1,000 กว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่จะจับคู่ได้ ส่วนสำคัญการทำแยกกักที่บ้าน ต้องมี 7 แยก ได้แก่ แยกนอน แยกกิน แยกอยู่ แยกใช้ แยกทิ้งขยะ แยกห้องน้ำ หรือใช้เป็นคนสุดท้ายและสุดท้ายคือ แยกอากาศ คือสวมหน้ากากอนามัย ต่างคนต่างอยู่

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) ใน กทม. เปิดบริการแล้ว 64 แห่งจาก 70 แห่ง จำนวน 8,694 ราย ครองเตียง 3,410 ราย คงเหลือ 5,284 เตียง ทั้งนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 200 กว่าราย ทั้งนี้ การทำแยกกักที่บ้านหรือศูนย์พักคอยในชุมชน ก็เพื่อให้คนจำเป็นจริงๆ มีเตียงใน รพ. หรือฮอสปิเทลตามจำเป็น ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของผู้ติดเชื้อตามรายงานจากผู้ปฏิบัติหน้างานระบุว่า ทั้งกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองและสีแดง พบว่าหลังจากที่ทำมาตรการแยกกักที่บ้าน/ศูนย์พักคอยชุมชน จำนวนรอคอยเตียงจากสายด่วนก็ลงลด กลุ่มเหลืองและแดง ระยะเวลารอคอยดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ที่ 24 ชั่วโมง

“ตอนนี้การรอเตียงของผู้ป่วยอาการสีเหลืองดีขึ้นเยอะ ส่วนสีแดงยังต้องรอคอยอยู่ อย่างที่เคยเรียนไปแล้ว ใน กทม. ซึ่งยังมีการติดเชื้อวันละ 4 พัน ที่เรากลัวคือไอซียูไม่พอ ซึ่งตอนนี้บริหารจัดการค่อนข้างยากต้องดูวันต่อวัน แต่รอเกิน 24 ชม. ก็ดีขึ้น ตอนนี้เราเจอปัญหาอย่าง คือประชาชนบางคนอยู่ HI บางคนอาจจะอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ได้ ออกซิเจนเริ่มลดลง เราก็บอกว่าให้มารพ.เถอะ ไม่ต้องรอ เพื่อรับออกซิเจน”

แต่ทั้งนี้มีหลายคนขอไม่มา รพ. เพราะรู้สึกว่าอยู่ที่บ้านนั้นปลอดภัยดี ได้ยาจำเป็นแล้ว อาการไม่มาก แต่ก็ต้องย้ำว่าหากแพทย์แนะนำให้มาก็ขอให้มา เพราะตอนนี้เตียงสีเหลืองเราบริหารได้ดีขึ้น แต่มีความงดงามของสังคมไทย พอมีคนไข้ไม่อยากมา รพ. ภาคประชาสังคมก็ร่วมกันเอาออกซิเจนไปให้ที่บ้าน แม้กระทั่งสีแดงก็มีบางส่วนที่ปฏิเสธการมา รพ. เช่น บางคนป่วยติดบ้าน ติดเตียงแล้วเกิดติดโควิด บางคนอายุมากและมีโรคร่วม บางคนก่อนติดโควิด มีการทำหนังสือแสดงความจำนงไม่รับการรักษา ที่เราทำคือมีสมาคมดูแลระยะท้ายไปให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดย นำออกซิเจน ให้ยาแก้ปวดที่บ้านเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า กรณีรายงานยอดผู้หายป่วยแล้วนั้นหายแล้วจริงหรือไม่ เนื่องจากมีการจำหน่ายออกจากสถานพยาบาลหลังอยู่ครบ 10 วันเท่านั้น นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยที่อยู่ รพ. หรืออยู่ในการดูแลของบุคลากรการแพทย์ แล้ว 10 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับมาพักต่อที่บ้านอีก 4 วัน ซึ่งต้องย้ำว่าแม้จะออกจาก รพ.มา 10 วันแล้ว เราจะยังจำหน่ายออกว่าเป็นผู้หายป่วยแล้ว จะไม่ประกาศเป็นผู้หายป่วยในอินโฟกราฟฟิกที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ตัวเลขที่เห็นเผยแพร่นั้นผ่านการรักษาจนครบกำหนดถ้วนระยะเวลาการรักษาแล้ว