สทนช. ติดตามผลการศึกษาแผนหลักแก้น้ำท่วม-ภัยแล้งจ.เชียงใหม่-ลำพูน

เลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน ติดตามผลศึกษาแผนบรรเทาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) ก่อนเดินหน้าแผนหลักกว่า 7,000โครงการ ตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี

  • เตรียมดันขุมเหมืองร้างเป็นแหล่งน้ำต้นทุน
  • อีกหนึ่งทางรอดของเกษตรกรจากภาวะฝนทิ้งช่วง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เชียงใหม่-ลำพูนว่า จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ จึงได้มีการศึกษาจัดทำแผนหลักบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ตามแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

โดยทำการศึกษา วิเคราะห์สภาพพื้นที่ ปัญหา และความต้องการของคนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาในเชิงลึกและสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ลดความ เสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง สร้างความมั่นคงด้านน้ำภาคการผลิต การอุปโภคบริโภค การจัดการคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน และการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ได้ดำเนินการศึกษาพื้นที่ Area Based จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ครอบคลุมพื้นที่ 138 ตำบล 19 อำเภอ และพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ Area Based จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ทั้งนี้ จากผลการศึกษา สามารถจัดท้าแผนงานหลักของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมดจำนวน 7,090 โครงการ ที่สามารถแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน แบ่งเป็น 1.ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1,430 โครงการ 2.ด้านการสร้างความมั่นคงของภาคการผลิต จำนวน 3,996 โครงการ 3.ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จำนวน 1,219 โครงการ 4.ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ จำนวน 259 โครงการ 5.ด้านการบริหารจัดการ จำนวน 186 โครงการ

อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดจะสามารถเพิ่มประสิทธิการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ประชาชนมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 951 ล้าน ลบ.ม. แก้ปัญหาภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่ 3,840,101 ไร่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จัดการพื้นที่น้ำท่วมและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้ 1,721,775 ไร่

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พบว่า มีขุมเหมืองแร่ถ่านหินเก่าอยู่มาก จากข้อมูลของสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 ระบุว่าอำเภอลี้ มีขุมเหมืองแร่ที่ไม่ได้ด้าเนินการแล้ว 11 ขุมเหมือง จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำ สามารถนำน้ำ จากขุมเหมืองมาใช้เพื่อการเกษตรได้

นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเดิมให้กลับมาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนการทำเกษตร โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 6 โครงการเร่งด่วน “โครงการแก้ไขปัญหา การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยการพัฒนาขุมเหมืองตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน” เพื่อทำโครงการก่อสร้างปรับปรุงขุมเหมืองและระบบกระจายน้ำพัฒนาขุมเหมืองตำบลดงดำ 2 แห่ง คาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานแก้ปัญหาภัยแล้ง ในการปลูกพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรในจังหวัดลำพูน พื้นที่ประมาณ 7,482 ไร่ ที่มีความต้องการใช้น้ำ ประมาณ 9.32 ล้าน ลบ.ม./ปี

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า อีกโครงการหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย คือ “โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และทางเข้า-ออก หมายเลข 2 ของอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด” เนื่องจากเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีความจุ 263 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 175,000 ไร่ แต่จากสถิติที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เฉลี่ยเพียงปีละ 202 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 137 ล้าน ลบ.ม. และจากการขยายตัวของภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและชุมชน และในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 173 ล้าน ลบ.ม.