

- มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 148,245 ล้านบาท
- “ทอท.-รฟท.-รฟม.-กฟผ.-กฟภ.”แชมป์เบิกจ่ายสูงสุด
วันที่ 30 มิ.ย.2564 นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนพ.ค.2564 รัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม148,245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 101% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุน 8 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนต.ค.2563 – เดือนพ.ค.2564) 34 แห่ง จำนวน 102,433 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99% ของแผนฯ และการเบิกจ่ายงบลงทุน 5 เดือนของรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (เดือนม.ค.2564 – เดือนพ.ค. 2564 ) 9 แห่ง จำนวน 45,812 ล้านบาท หรือคิดเป็น 106% ของแผน
สำหรับ รัฐวิสาหกิจที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผนและมีการเบิกจ่ายสะสมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 43,657 ล้านบาท รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 28,391 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 12,075 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 11,591 ล้านบาท และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 10,973 ล้านบาท
นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2564 รัฐวิสาหกิจ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของ รฟท. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ของ รฟม. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 ของ กฟผ. และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 2 ของ กฟภ.
ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร และโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ของ รฟท. และโครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง
