ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง “เฟด”จะระมัดระวังนโยบายการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเฟด คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามคาด พร้อมกับส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า มากกว่าคาดการณ์รอบที่แล้ว

  • เชื่อเฟด อาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้ามากอย่างที่ตลาดคาด
  • เนื่องจากต้องการเห็นตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานชะลอลงมากกว่านี้
  • เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ( FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)​เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. ที่ผ่านมา เฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ตามคาด ขณะที่ จากคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) เฟดส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยได้เข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว และในระยะข้างหน้าเฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า มากกว่าคาดการณ์รอบที่แล้วที่มองว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2567 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 4.6% ลดลงมาจากคาดการณ์รอบที่แล้วที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1% นอกจากนี้ เฟดยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางสู่ Soft Landing โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงในปีหน้า แต่คงไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการสื่อสารของเฟดจะลดความแข็งกร้าวลง แต่เฟดก็ยังคงมุมมองระมัดระวังและยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในกรณีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณไว้ โดยจากข้อมูลของ CME FedWatch Tool (ณ วันที่ 14 ธ.ค. 2566) ตลาดคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยถึง 6 ครั้งมาอยู่ที่ 3.75-4.00%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเฟดจะยังคงมุมมองที่ระมัดระวังและอาจไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้ามากอย่างที่ตลาดคาด เนื่องจากเฟดคงต้องการเห็นตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานชะลอลงมากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายและไม่กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุม FOMC ออกมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปรับลดลงและค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้อ่อนค่าลง ขณะที่ ค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์หลังการประชุม FOMC สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะและขนาดของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ค่าเงินบาทของไทยจึงมีแนวโน้มที่จะยังเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า