ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ฟันธงปี 65 ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัว หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ เปิดประเทศ ผ่อนคลายแอลทีวี



  • ชี้ผู้ประกอบการจะกลับมาเปิดโครงการใหม่มากขึ้น หลังชะลอมาเกือบ 2 ปี
  • ด้านกำลังซื้อคาดยังไม่กลับมาฟื้นตัว ต้องรอให้ตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุล คาดวจะเห็นภาพชัดปี 66
  • ด้านตลาดคอนโดฯ คาดยอดขายจะค่อยๆดีขึ้น แต่ยังต้องรอ การกลับมาของลูกค้าต่างชาติ

นายวิชัย วิรัชตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2565 จะเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น จากภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสิ้นปี 2565 ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาดีขึ้น และจะเริ่มการเห็นการกลับมาเปิดโครงการใหม่มากขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการเพิ่มไปเกือบ 2 ปื

ทั้งนี้ การเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 จะกลับมาเติบโตจากปี 2564 ถึง 99% หรือมีการเปิดตัวมากกว่า 85,000 หน่วย จากปี 2564 อยู่ที่ 43,000 หน่วย แต่จะยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งยังคงเป็นทำเลที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

รวมถึงคาดว่า จะเริ่มเห็นการกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่กลับมาแตะระดับ 100,000 หน่วยอีกครั้ง หลังจากที่ภาวะต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ปกติมากขึ้น โดยปัจจุบันแม้ว่าจะมีปัจจัยบวก และมาตรการกระตุ้นต่างๆ ออกมา แต่กำลังซื้อนั้นยังไม่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้การฟื้นตัวของตลาดยังต้องรอกำลังซื้อที่ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาก่อน เพื่อทำให้ตลาดเข้าสู่ภาวะสมดุล คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในปี 2566

นายวิชัย กล่าวถึงยอดขายในปี 2565 โดยคาดว่า จะเห็นการกลับมาเติบโตขึ้นราว 15% ที่ 127,000 หน่วย จากปี2564 ที่ทรงตัวจากปี 2563 ที่ 110,000 หน่วย กลุ่มสินค้าที่อยู่อาศัยที่ยังได้รับความนิยมเป็นกลุ่มแนวราบ ที่มีความต้องการซื้อเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมาจากกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลัก

ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมมองว่า ยอดขายจะค่อย ๆ กลับขึ้นมาดีขึ้น แต่ยังคงต้องรอการกลับมาของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ที่จะเข้ามาช่วยหนุนยอดขาย โดยที่ในปี 2565 มองว่ากลุ่มลูกค้าต่างชาติจะยังไม่กลับมามากนัก โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการเปิดประเทศ และอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ จึงน่าจะส่งผลทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมยังขาดปัจจัยหนุน แต่มองว่ากลุ่มลูกค้าในประเทศบางกลุ่มจะกลับมาซื้อ เพื่อใช้อยู่อาศัย และเพื่อความสะดวกในการทำงาน

ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2565 คาดว่าจะเห็นการกลับมาเติบโต 15% หรืออยู่ที่ 324,221 หน่วย จากปี 2564 ที่หดตัว -21.6% ซึ่งมองว่าการโอนกรรมสิทธิ์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาส3/2564 แต่ในปี 2565 จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กลับมาดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาได้ตามปกติ และมาตรการที่หนุนต่อการซื้ออสังหาริมาทรัพย์จะเป็นปัจจัยหนุนทำให้การโอนกรรมสิทธิ์กลับมาเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องติดตาม คือการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารกับผู้ซื้อในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ยังมีระดับการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50-70% ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 2-5 ล้านบาท พบอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 20-30% และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ต่างมองว่า อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงจากความเข้มงวดของธนาคาร ยังถือเป็นปัจจัยที่กดดันการโอนกรรมสิทธิ์

“หากมองในส่วนของธนาคาร คาดว่าความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ มาจากการที่ธนาคารยังคงป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของหนี้เสีย ทำให้ยังไม่เร่งการปล่อยสินเชื่อมาก แต่คาดว่าจะเห็นการเริ่มผ่อนคลายของธนาคารมากขึ้นหลังจากภาพของเศรษฐกิจกลับมาดี ทำให้กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารจะกลับมามากขึ้น” นายวิชัย กล่าว

นอกจากนี้คาดว่า ในปี 2565 การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 6.69 แสนล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท และคาดว่าจะกลับมาที่ระดับปกติในระดับ 7 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ศูนย์ข้อมูลฯ มองว่าเป็นปีที่ตลาดปรับเข้าสู่จุดสมดุล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนด้านราคาขายที่อยู่อาศัยในปี 2565 คาดว่าจะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ที่เห็นชัดเจนที่สุดจะเป็นการปรับลดในเรื่องโปรโมชั่น และของแถมต่าง ๆ ของผู้ประกอบการที่ให้กับลูกค้าลดลงค่อนข้างมากเนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องเริ่มควบคุมต้นทุนมากขึ้น หลังต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น เพื่อคงความสามารถในการทำกำไร ทำให้ในปี 2565 จะเห็นการทำโปรโมชั่นและแจกของแถมลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าราคาที่ดินยังไม่ปรับตัวสูงมากก็ตาม แต่ในภาพรวมของต้นทุนของผู้ประกอบการ จะเห็นการปรับเพิ่มสูงขึ้นชัดเจนมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และลดการทำโปรโมชั่น และให้ของแถมลง