“ศักดิ์สยาม” สั่งแก้รถติดบนทางด่วน “กทพ.” รับลูกวางแผนผุดทางด่วนสาย “ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี”



  • คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565
  • เปิดให้บริการได้ในปี 2568
  • ค่าผ่านทางอยู่ที่ 25 บาท-สิ้นสุดเส้นทาง 190 บาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญางานจ้างผู้ให้บริการออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอพซิลอน จำกัด

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปทุมธานี นครนายก และสระบุรี จะใช้ถนนพหลโยธิน และ ถนนรังสิต-นครนายก เป็นเส้นทางหลัก มีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนี้ ยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเฉพาะวันหยุดและช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง

เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กทพ.จึงได้วางแผนการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัชไปนครนายกและสระบุรี เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนน เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนน

สำหรับโครงการจะมีระยะทาง 104.7 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) มีทิศทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านฯ จตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แนวเส้นทางจะไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ด้านตะวันออก สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 เมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการปี 2568 ขณะที่เบื้องต้นอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 25 บาท และสิ้นสุดเส้นทาง 190 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการ กทพ.ที่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยกำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบ โดยนำเทคโนโลยี เช่น โดรนมาใช้เพื่อตรวจสภาพการจราจร ให้ประชาชนเดินทางปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนี้ การขยายสัญญาสัมทานและข้อพิพาทจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะเดียวกันยังกำชับว่าโครงการของ กทพ.จะต้องดูเรื่องระเบียบกฎหมาย มีหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้