“ศักดิ์สยาม”เดินหน้าตั้งกรรมการความรับผิดทางละเมิดกรณีโฮปเวลล์ ดีเดย์!25ก.พ.นี้ประชุมนัดแรก-มั่นใจหาคนรับผิดได้แน่!



นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงนายสุทิน คลังแสง สภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีโครงการ โฮปเวลล์ ที่กังวลว่าจะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้ศึกษาข้อกฎหมาย และพิจารณเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยนายกรัฐมนตรี ได้วินิจฉัยสั่งการว่าจะต้องหาตัวคนทำผิดทางละเมิด จากคดีดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ออกคำสั่งแต่งตั้ง กรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดไปแล้ว

ส่วนสาเหตุที่เพิ่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางละเมิด หลังศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไปแล้ว ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการ ดำเนินการทางกฎหมายไปในหลายหลายด้านพร้อมกัน โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ยังได้พยายามยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพอจารณา และยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วย โดยการดำเนินการในคดีทางละเมิด ตามมาตรา 10 วรรค 2 กระทรวงคมนาคมถือเป็นหน้าที่ ต้องหาตัวเจ้าหน้าที่ ผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง และเมื่อผลสอบสวนออกมาแล้ว ก็จะต้องรายงานให้กระทรวงการคลังให้วินิจฉัยอีกครั้ง โดยจะยึดแนวทางของกระทรวงการคลังในการพิจารณา และนับอายุความอีก 1 ปี


“เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงนะครับ นายกรัฐมนตรี สั่งการว่าให้ดำเนินการตามกฎหมาย อะไรถูกก็ว่าถูก อะไรผิดก็ผิด ไม่มีว่าอะไรถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก”นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม ได้ชี้แจงด้วยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือแจ้งมาที่กระทรวงคมนาคม ในวันที่ 5 ก.พ.2564 เรื่องการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดว่า เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และปลัดกระทรวงคมนาคม สามารถแต่งตั้งกรรมการสอบสวนได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้มาแต่แรก ตนจึงได้มีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางละเมิด และจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 25 ก.พ.2564 ยืนยันว่าจะสรุปเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการแต่งตั้ง กรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิด ก็เพื่อตรวจสอบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ที่ศาลปกครองพิพากษาให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายแก่เอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ในลักษณะละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และหากผลการสอบสวนสามารถระบุตัวบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายได้ ก็จะนำไปสู่การพิจารณาข้อมูลในส่วนของกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะมีข้อมูลเพื่อวินิจฉัยว่าการละเมิดดังกล่าวของบุคคลนั้นตีมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดใช้ เป็นจำนวนเงินเท่าใดเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยังอยู่ในราชการหรือเกษียณอายุไปแล้ว หรือแม้แต่กรณีบุคคลดังกล่าวได้เสียชีวิตไปแล้ว จะมีการสอบสวนต่อไปว่า มีทรัพย์สินส่วนใดที่จะดำเนินการฟ้องร้องทางคดีเพื่อขอยึดทรัพย์มาชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตด้วย

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า กรณีนี้ยังไม่ได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงยังไม่นับอายุความตามมาตรา 9 ซึ่งระบุไว้ว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย