“วีรศักดิ์” บุกโคราช ดันน้อยหน่าปากช่อง สินค้า GI รายต่อไป หวังโกยรายได้สู่ชุมชน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าในท้องถิ่นที่เตรียมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) รายการใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา และร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมและผลักดันของดีในชุมชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครราชสีมาได้นำเสนอน้อยหน่าปากช่อง”  สวนน้อยหน่าเพชรปากช่อง บ้านหนองตาแก้ว ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีโอกาสได้รับการขึ้นทะเบียน GI เพราะถือเป็นของดี ของเด่นของชุมชน และอัตลักษณ์โดดเด่นกว่าน้อยหน่าที่อื่น ซึ่งหากได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป 

ทั้งนี้ นอกจากน้อยหน่าปากช่องแล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังได้ร่วมหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสินค้าใหม่ๆ อาทิ ทุเรียนปากช่องเพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ในอนาคตต่อไป ”

สำหรับ “น้อยหน่าปากช่อง” ปลูกมากในพื้นที่อำเภอปากช่อง ซึ่งมีสภาพดินแดงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกน้อยหน่ามากที่สุด มีฤดูกาลผลิตในช่วง พฤษภาคม – ธันวาคม ของทุกปี แบ่งออกเป็น 3  สายพันธุ์ คือ (1) สายพันธุ์น้อยหน่าฝ้าย มีลักษณะตาแคบ ร่องตาลึก รสหวาน เนื้อสีขาวละเอียดครีม กลิ่นหอม (2) สายพันธุ์น้อยหน่าหนัง มีลักษณะตากว้าง ร่องตาตื้น เนื้อสีขาวละเอียดเหนียว เปลือกร่อนได้ง่าย  (3) สายพันธุ์น้อยหน่าลูกผสม มีลักษณะผลใหญ่ รูปหัวใจ ผิวค่อนข้างเรียบ ร่องตาตื้น เปลือกบางลอกจากเนื้อได้ง่าย เนื้อเหนียว กลิ่นหอม รสชาติหวาน

นอกจากนี้ นายวีรศักดิ์ ได้เดินทางไป  ศาลาประชาคมบ้านดอนสระจันทร์ ตำบลถนนโพธิ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI สำหรับมะขามเทศเพชรโนนไทยของจังหวัดนครราชสีมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไป เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้รับมอบหนังสือรับรองฯ จึงทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดในประเทศไทยเทียบเท่าจังหวัดเชียงราย ถึง 6 รายการ

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการและสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคสินค้าท้องถิ่นซึ่งมีคุณภาพ เป็นของดี ของหายาก รวมทั้งขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับการผลักดันการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ในต่างประเทศ