วัคซีนช่วยชีวิต! สศค.คาดฉุดท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัว เล็งปรับเป้าจีดีใหม่เดือนเม.ย.นี้



  • มองเทศกาลสงกรานต์ คนออกมาทำกิจกรรมมากขึ้น
  • ยันตัวเลขนักท่องเที่ยวมาไทยปีนี้ยัง 5 ล้านคน

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า คาดว่าเดือนก.พ.2564 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ล็อตแรกช่วงท้ายเดือนก.พ.กว่า 317,000 โดส ประกอบกับการที่รัฐบาลวางแผนฉีดวัคซีนให้คนไทยจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ โดยคาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะเห็นตัวเลขผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น สศค.จะดำเนินการปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)อีกครั้งในช่วงปลายเดือนเม.ย.2564 จากที่กำหนดเป้าจีดีพีปีนี้ 2.8 %

“เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยในปีนี้ยังกำหนดที่ 5 ล้านคนตามเดิม และมองว่าช่วงปลายปีนักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวในไทยมากขึ้น ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเม.ย.นั้น คาดว่าปีนี้จะมีคนออกมาเที่ยวมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในภาวะล็อคดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 แต่ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ดังนั้นคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

ส่วนภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนม.ค. 2564 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.2564 ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงกลางเดือนธ.ค. 2563 โดยเฉพาะปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาลดลง 46.9% และ 6.6 % ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลง 7.8%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ส่วนเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัว 345.1% และ 50.5% ตามลำดับ 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟ เป็นต้น และ 3. สินค้าที่ป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ที่ 12.4% เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ 30.3% และ 9.9% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาด CLMV หรือ ประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามกลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือนที่ 3.8%

สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนม.ค.2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 7,649 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะฟินเเลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เเละเดนมาร์ก นอกจากนี้บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ 52.1% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนม.ค. 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 256.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ