ลุ้น! “สรรพากร” ปัดฝุ่นเว้นภาษีแวตนำเข้าวัคซีนเพื่อการบริจาค



  • ปฎิเสธไม่ได้ภาษีเก็บแวต 2 เด้งตามข่าว 
  • ผู้นำเข้านำมาจำหน่ายให้ประชาชนเก็บภาษีตามกฎหมาย

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)​ในอัตรา 7% เมื่อนำเข้าวัคซีนโควิด มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก ทำให้กรมสรรพากรต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีแวตนั้นเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายก็ต้องเก็บภาษีแวต และยืนยันว่าไม่ได้มีการจัดเก็บ 2 เด้งตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ส่วนกรณีจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีแวตวัคซีนโควิดหรือไม่นั้น กรมสรรพากรไม่สามารถเสนอความเห็นได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องระดับนโยบาย แต่หากนโยบาย สั่งให้ดำเนินการ ก็สามารถดำเนินการได้ ในลักษณะของการยกเว้นภาษีแวต สำหรับผู้ที่นำเข้ามาเพื่อการบริจาคเท่านั้น แต่หากนำมาจำหน่ายให้กับประชาชน ก็ต้องจ่ายภาษีแวตเช่นเดิม

“การยกเว้นภาษีแวต ให้กับวัคซีนโควิดเป็นการเฉพาะน่าจะทำไม่ได้ เพราะภาษีแวต เป็นกฎหมายประมวลรัษฎากร  ถ้าจะยกเว้นจริงก็ต้องแก้กฎหมายอีกหลายขั้นตอน แต่สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การยกเว้นภาษีแวต สำหรับการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์และวัคซีน เพื่อนำมาบริจาคเท่านั้น เหมือนที่กรมสรรพากร ได้ดำเนินการเมื่อปี 2563 ส่วนจะนำกลับมาใช้อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบาย เพราะขณะนี้กรณีดังกล่าวได้สิ้นสุดมาตรการไปแล้ว”

สำหรับการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)​ ตามความในประมวลรัษฎากร เมื่อปี 2563 นั้น เป็นการยกเว้นรัษฎากร มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคโควิด-19 เช่น ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ จากต่างประเทศและบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 – 28 ก.พ.2564