ลุ้น! กกพ.เคาะค่า Ft สัปดาห์หน้า หวังพยุงค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนไว้ 4.72 บาท

  • ช่วยตรึงราคาไม่ให้กระโดดไปถึงหน่วยละ 6.03 บาท
  • ให้สิทธิ์ได้ใช้แก๊สในอ่าวไทยที่มีต้นทุนต่ำสุด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 2566) โดยให้ กกพ. คำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย พร้อมจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานนั้น

ขณะนี้ อยู่ระหว่างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประเมิณราคาแก๊สใหม่ตามที่กพช. มีมติให้คิดตามประมาณกลางเป็นค่า Ft ใหม่ ซึ่งโดยหลักการเมื่อกพช. มีมติให้ กกพ.ก็ทำให้ ถือว่า กพช. มีอำนาจทางกฎหมาย โดยกฟผ.จะทำตัวเลขโดยการให้นำแก๊สในอ่าวไทยไปให้ประชาชนได้ใช้ก่อน เพื่อให้ใช้ค่าไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงในหน่วยละ 4.72 บาท

“ต้องยอมรับว่าการเอาแก๊สที่ถูกไปให้ประชาชนใช้ก่อน จะเหลือให้ภาคอื่นที่ไม่ใช่ประชาชนน้อยลง จะทำให้ราคาแก๊สเพิ่มขึ้น ราคาค่าไฟภาคที่ไม่ใช่ภาคประชาชนก็ต้องเพิ่มขึ้น เพราะเรามีแก๊สในอ่าวไทยน้อยแค่ก้อนเดียว ซึ่ง กกพ.ทำประเมิณราคาแก๊สใหม่ เพื่อคิดค่า Ft ที่ให้ประชาชนก่อน ก็จะได้ 2 ค่ามา ส่วนที่เหลือจะเอาเงิน 1,500 ล้านบาทต่อเดือนจาก ปตท.มา นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กกพ.ไม่เกี่ยวกับเรา ทั้งนี้จะพยายามทำตัวเลขให้เร็วที่สุดเพื่อนำเข้าบอร์ดอนุมัติแล้วแจ้งให้ 3 การไฟฟ้าทราบต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้า 9 เดือนปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.4% มีการใช้รวมทั้งสิ้น 149,972 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.9% จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น รองลงมา คือ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ มีสัดส่วน 23% และมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 11.6% ซึ่งมาจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น

ทั้งนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2565 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 14:30 น. อยู่ที่ระดับ 33,177 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานพยายามหาวิธีบริหารต้นทุนด้วยการใช้น้ำมันดีเซล พลังงานน้ำจากประเทศเพื่อบ้าน ฯลฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาตินำเข้า ซึ่งจากการประมาณการพบว่าการตลอดปี 2565 สามารถประหยัดงบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มปีหน้าคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติน่าจะลดลง และกำลังผลิตแก๊สในอ่าวไทยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2566 จะช่วยทำให้ค่าไฟถูกลงได้ ทั้งนี้ อยากจะย้ำให้ประชาชนทุกคนร่วมกันประหยัดพลังงานถือเป็นสิ่งสำคัญสุด

“ตอนนี้ กกพ.อยู่ระหว่างทำตัวเลขโดยให้ภาคครัวเรือนใช้ไฟฟ้าจากแก๊สในอ่าวไทยซึ่งอาจจะเป็นสัดส่วน 80% เพื่อที่จะได้ใช้ไฟฟ้าราคาหน่วยละ 4.72 บาทต่อไป ส่วนที่เหลืออีกราว 20% อาจจะให้ในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่านิดหน่อย ซึ่งมองว่า กกพ. น่าจะทำตัวเลขเสร็จในสัปดาห์หน้าหรือไม่เกินกลางเดือนธ.ค. 2565 นี้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะขอให้กระทรวงพลังงาน ชะลอการขึ้นค่า Ft นั้น หากจะไม่ขึ้นรัฐบาลทำได้ เพียงแต่จะต้องมีเงินเข้ามาสนับสนุน แต่ถ้าไม่มีเงินมา กฟผ.ก็อาจจะลำบาก ไม่ใช่แค่ค่าไฟแพง แต่จะไม่มีไฟฟ้าใช้เลยเพราะเจ๊ง ซึ่งกฟผ.เองก็มีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด จากการที่ต้องได้เงินคืน เมื่อไม่ได้คืนก็ไปกินกระแสเงินสดเขา รัฐบาลก็ไม่มีเงินช่วย

ในส่วนของเงินที่กพช.ขอให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ช่วยเหลือเดือนละ 1,500 ล้านบาท รวม 4 เดือน เป็นเงิน 6,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันจาก ปตท.ว่าจะให้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ยอมผลสุดท้ายอาจจะไปตกที่กฟผ. อีกหรือไม่ เพราะหากเก็บเงินไม่ได้ เพราะปตท.ก็เพิ่งจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ไป 3,000 ล้านบาท

“ตอนนี้มติ กพช. ออกมาให้กกพ.ทำตัวเลขใหม่ ซึ่งถือเป็นมติที่ กกพ.ไม่ต้องประกาศค่า Ft ในเวลา 30 วัน ถือเป็นการดึงเวลาประกาศการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ของกกพ.ออกไปก่อน แต่หากผลสุดท้ายปตท.ไม่จ่าย กฟผ.ก็ต้องแบกต่อ ซึ่งถามว่ากฟผ.ขาดทุนหรือเปล่านั้น วิธีบันทึกบัญชีของเขามองว่าเงินตรงนี้เป็นหนี้ที่เขาต้องได้รับเลยไม่ขาดทุน แต่ถ้าไม่ได้ก็อาจส่งผลถึงสภาพคล่องตามมาเป็นต้น” แหล่งข่าว กล่าว