ลุยลูกเดียว… “ชัชชาติ” ประชุมนัดแรกเน้น 4 เรื่องหลัก “โควิด-งบประมาณ-บำบัดน้ำเสีย-อุดช่องโหว่โกง”

  • จ่อหารือเรื่องถอดหน้ากาก เผยต้องรอ ศบค.กทม. พิจารณาก่อน เพื่อเสนอ ศบค.ใหญ่ ให้ความเห็นชอบ
  • เร่งหน่วยงานให้จัดทำงบฯ ประจำปี 66 ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า
  • พร้อมสั่งทีมลงไปสำรวจ จัดทำแผนบำบัดน้ำเสียในชุมชน ให้สามารถแก้ไขทำได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนัดแรกของคณะผู้บริหารชุดผู้ว่าฯ ชัชชาติ โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง และผู้บริหารหน่วยงานสำนักต่างๆ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.(ดินแดง) โดยในการประชุมนัดแรกนี้ มีเรื่องของการเดินหน้าทำงานหลายด้าน

ทั้งนี้ นายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีวาระการประชุม 4 เรื่อง เรื่องแรกโควิด ซึ่งจากการดูตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ อัตราการครองเตียงพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคิดว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว จึงได้หารือเรื่องการถอดหน้ากากแต่ต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร ศบค.กทม. พิจารณาก่อน เสนอไปยังศบค.ใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบ 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคติดต่อ แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยในเมืองไทย จากกรณีวานนี้ (5 มิ.ย.) ที่มีการรวมตัวกัน มีหลายคนกังวลเรื่องการติดต่อ ยืนยันว่าการติดต่อคนละรูปแบบกัน ทั้งนี้ในส่วนโควิดได้กำชับให้ดูตัวเลขหลังจากนี้ว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นก้าวที่ค่อยๆ เข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงทุกฝ่าย และยังยึดมาตรการการป้องกันทั้งหมดอย่างเข้มข้นต่อไป

ส่วนเรื่องที่ 2 และ 3 คือ เรื่องงบประมาณ และยุทธศาสตร์ตามแผนนโยบาย 214 ข้อ โดยได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดทำงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พิจาณาให้ความเห็นชอบ ส่วนนโยบาย 214 ข้อ ส่วนใหญ่ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ที่กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ซึ่งมีหลายเรื่องทำได้แล้วโดยไม่ใช้งบประมาณ  ดังนั้นจึงจะปรับแนวทางการทำงานให้ชัดเจนขึ้น สำหรับเรื่องที่เป็นโครงการใหญ่ก็รองบประมาณปี 2566

ทั้งนี้ ในส่วนเรื่องที่ 4 คือการบำบัดน้ำเสีย พบว่า มีหลายชุมชน ปล่อยน้ำเสียลงคลอง ดังนั้นจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงไปสำรวจ เพื่อจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ให้แล้วเสร็จ ถึง 11 ปี และใช้งบหลายหมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วที่คลองลาดพร้าวดังนั้นจึงให้ไปทำแผนให้ชัดเจนที่คลองเปรมประชากรและคลองแสนแสบด้วยว่าจะทำกี่ชุมชนและกี่จุด เพื่อสรุปรายงานอีกครั้ง

นอกจากนี้ มีเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปสำรวจจุดอ่อนและช่องโหว่ ของการทุจริตคอรัปชั่น พร้อมเสนอแนวทางวิธีการป้องกัน ก่อนรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นแผนต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ภายใน 1 สัปดาห์ ตามนโยบายงบประมาณฐานศูนย์ Zero-Based Budgeting โดยได้เชิญอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันจะทบทวนโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือบางโครงการที่เร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ผลงานที่ทำได้นั้น กลับไม่มีความคืบหน้า เช่น การปรับปรุงสวนลุมพินี ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนคลองช่องนนทรี ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าว แบ่งการก่อสร้างออกเป็นหลายเฟส ดังนั้นเฟสใดที่ดำเนินการไปแล้ว ก็จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จ ส่วนเฟสที่เหลือ จะต้องไปทบทวนความคุ้มค่าและความเหมาะสมกับการใช้งบประมาณอีกครั้ง