

- ลูกจ้างประกันสังคมจะได้ชดเชยสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท บวกรัฐช่วยเพิ่ม2,000 บาท
- นายจ้างได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดเกิน 600,000 บาท
- ชวนธุรกิจรีบเข้าระบบประกันสังคมได้ด้วย ไม่มีลูกจ้างให้สมัครแอปถุงเงินได้ 3,000 บาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยภายหลังประชุมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ได้ข้อสรุปที่จะใช้เงินเยียวยา 7,500 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)มาจากเงินกู้โควิด-19 จำนวน 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการในวันที่ 29 มิ.ย.2564 และนำเสนอให้ครม.อนุมัติวงเงินในวันที่ 6ก.ค. 2564 โดยมาตรการที่ใช้จะเป็นมาตรการพิเศษ 1 เดือนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ส่วน 4 จังหวัดทางภาคใต้ยังสามารถใช้ข้อกำหนดในฉบับที่ 24 อยู่
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้จะให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ธุรกิจที่กระทบมากคือ ก่อสร้างที่ถูกสั่งปิดไซต์งาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารที่ไม่ให้นั่งทางในร้าน สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จะจ่ายชดเชยให้ลูกจ้าง 50% ของฐานเงินเดือนแต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และมีเงินเพิ่มเติมจากรัฐบาลอีกคนละ 2,000 บาท มีสาเหตุจากลูกจ้างถูกลดเงินเดือน 50% หรือบางธุรกิจไม่จ่ายให้ รัฐบาลจึงช่วยจ่ายเงินให้ สำหรับนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคนที่อยู่ในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท
ส่วนผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม จะดำเนินการใน 2 เรื่อง หลักๆในกรณีที่แรงงานไม่อยู่ในระบบ ขอให้ผู้ประกอบการรีบไปขึ้นทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งในช่วง 1 เดือนจากนี้กระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้ นายจ้างก็จะได้รับเงิน 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับ 2,000 บาทต่อคน แต่เงินช่วยเหลืออันเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากกองทุนประกันสังคม50% ของเงินดือนจะไม่ได้รับ เพราะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนถึงจะได้ตรงนี้
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เพราะไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนแอปพิเคชั่นถุงเงินใน 1 เดือนนี้ และจะขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบ จะเป็นในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทและขอย้ำว่าไม่มีการเลื่อนโครงการคนละครึ่งที่จะเริ่มใช้ได้วันที่ 1 ก.ค.นี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นมีลูกจ้างในระบบประกันสังคม ได้รับผลกระทบ 697,315 คน เป็นคนไทย 603,560 คน ต่างด้าว 93,755 คน การจ่ายเงินชดเชยประกันสังคมให้จะเหมือนกันทั้งคนไทยและต่างด้าว เพราะนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกัน แต่เงินเยียวยาพิเศษ 2,000 บาท จะจ่ายให้เฉพาะคนไทย เพราะนำมาจากเงินกู้โควิด-19
ผู้สื่อข่าวถามว่า ลูกจ้างในไซต์งานก่อสร้างและร้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาทจะเพียงพอหรือ รมว.แรงงาน กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ากฎหมายไทย ถ้ามีคนงาน 1 คนขึ้นไปก็ขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้แล้ว ก็จะมีการส่งเงินสมทบ ก็นำเงินนี้กลับมาช่วยเหลือได้ แต่ถ้าอยู่นอกระบบประกันสังคม รัฐบาลไม่สามารถรู้ หรือมีหลักฐานได้ว่าเป็นใคร มีจำนวนเท่าใด ตอนนี้จึงขอให้มาขึ้นทะเบียนกันเพราะถ้านายจ้างมีลูกจ้าง 10 คน มาขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้เรียบร้อย นายจ้างก็จะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ 30,000 บาท และลูกจ้างก็ได้คนละ 2,000 บาทด้วย
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า นายกฯสั่งการกระทรวงแรงงานประสานกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีคนงานแสนกว่าคน ให้ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทย ขอใช้บริการร้านอาหารรายย่อย จัดอาหารกล่องไปบริการตามแคมป์คนงานต่างๆ ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยยินดีจ่ายเงินเองเพื่อดูแลลูกน้องเขา สำหรับเงินช่วยเหลือในส่วนประกันสังคมจ่ายให้ได้เลย โดยจะจ่ายให้ทุก 5 วัน ครั้งแรกคาดว่าเป็นวันที่ 6 ก.ค.นี้ ส่วนค่าช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 2,000 บาทต้องรอ ครม.อนุมัติก่อน
สำหรับการเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ไซต์งานไปต่างจังหวัด ตนเองยอมรับมีออกไปจริงๆ แต่น้อย อย่างบริษัทเพื่อนตนเองมี 1,000 กว่าคน มีออกไป 12 คน เพราะตอนแรกเขาไม่รู้จะได้รับการดูแลอย่างไร แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้ว และขอย้ำว่าหากไม่มีการปิดแคมป์ การเคลื่อนคนเข้ากรุงเทพฯวันละเป็นแสนคน มีการแวะตลาดนัด แวะมินิมาร์ท การปิดแคมป์คนงานจึงต้องเกิดขึ้นเพื่อควบคุมการระบาดของคลัสเตอร์นี้ให้ได้