รัฐสภาไฟเขียวไทยให้สัตยาบันความตกลง “อาร์เซ็ป”

  • จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้กฎระเบียบการค้าใหม่
  • หวังให้สอดคล้องกับความตกลงพร้อมทำไกด์ไลน์ใช้ประโยชน์
  • คาดมีผลใช้บังคับปี 64 ชี้สินค้าเกษตรไทยได้ประโยชน์เพียบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 รัฐสภามีมติเห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจากอาร์เซ็ป ในที่ประชุมรัฐสภา โดยหลังจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ของไทย จะเร่งออกประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับกฎ ระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับความตกลง เช่น กฎกระทรวงในการลดเลิกอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า เป็นต้น เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง รวมถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนความตกลงมีผลใช้บังคับ

“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอาร์เซ็ป เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทย โดยอาร์เซ็ป จะเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับที่ 14 ของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดในอาร์เซ็ปให้ไทยเพิ่มเติมจากที่เปิดให้ไทยในเอฟทีเอที่มีอยู่ เช่น ประมง แป้งมันสำปะหลัง สัปปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น”

นอกจากนี้ อาร์เซ็ปยังช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น ขณะเดียวกัน อาร์เซ็ปยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์จากความตกลงมากขึ้น 

นางอรมน กล่าวว่า คาดว่า อาร์เซ็ป จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ หลังจาก สมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และคู่เจรจาอย่างน้อย 3 ประเทศจาก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  ได้ให้สัตยาบันไปแล้ว 60 วัน สำหรับในปี 63 การค้าของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาดอาร์เซ็ป โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก มีมูลค่า 252,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.5% ของการค้ารวมของไทย