

- รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โชว์ใช้ “EEC MODEL” เร่งผลิตแรงงานทักษะสูงป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
- ปี’66 เปิดต้นแบบนักศึกษาหลักสูตร Type A, B เรียนจบแล้วมีงานทำ รายได้สูง
- ตั้งเป้าเดินหน้าผลิตเพิ่มให้ครบ 4.57 แสนคน ขานรับไทยแลนด์ 4.0 ในโลกยุคหุ่นยนต์กับคนทำงานร่วมกันได้ประสิทธิภาพดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2566 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เร่งผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC -Eastern Economic Corridor) เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนใหม่จากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั่วโลก เข้ามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนและชุมชน ต่อเนื่องจากที่ผ่านมาตลอด 4 ปี ระหว่างปี 2561-2565 ซึ่งมีโครงการใน EEC ที่ได้รับอนุมัติแล้วมีเงินลงทุนเข้ามาถึง 1.92 ล้านล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมเพียง 1.7 ล้านล้านบาท รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพทำให้เกิดการจ้างงานกว่า200,000 คน
ปี 2566 ในพื้นที่ EEC ยังคงมีความจำเป็นเร่งด่วนให้สอดคล้องกับโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมรวมอยู่ด้วยใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย นั่นคือการพัฒนาบุคลากรและแรงงานทักษะป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวภายใต้โครงการ“EEC Model : Demand Driven Education” คาดภายในปีนี้จะสร้างแรงงานทักษะเพิ่มอีกกว่า 150,000 คน เป้าหมายตลอดโครงการนี้จะผลิตให้ได้ทั้งหมด 457,000 คน
ที่ผ่านมาตลอด 4 ปี ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน เดินหน้าพัฒนาทักษะบุคลากร ผลิตคนให้ตรงความต้องการตลาด ซึ่งมีแรงงานผ่านการอบรมเรียบร้อยแล้วกว่า 16,000 คน

สำหรับ “อีอีซี โมเดล” ที่นำมาใช้ผลิตแรงงานทักษะดำเนินการด้วย 2 รูปแบบ คือ
1. EEC Model Type A เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการ โดย “เอกชน” จ่ายค่าเรียน100 % จนจบปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ตามหลักสูตรที่ตอบโจทย์การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายและประกันการมีงานทำของผู้เรียนด้วย
2. EEC Model Type B ภาครัฐอุดหนุนไม่เกิน 50 % ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้สนับสนุน ในการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อปรับทักษะ เพิ่มทักษะ ระยะเร่งด่วน ให้บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และต้องการฝึกอบรมพนักงาน
นายปัญจพล ภู่จีน พนักงาน บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด บุคคลากรตัวอย่างจากการเข้าร่วมโครงการ อีอีซี โมเดล เปิดเผยว่า เดิมเลือกเรียนสายช่างยนต์ พอมีโครงการนี้จึงตัดสินใจมาเรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ปีแรกเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จากนั้นได้ฝึกงานอีก 1 ปี ซึ่งเป็นเสมือนพนักงานโดยได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในสถาบันไทย-เยอรมัน ระหว่างฝึกงานมีพี่เลี้ยงสอนงานพร้อมได้ลงมือปฏิบัติงานจริง เรียนรู้ชีวิตการทำงาน ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และขณะฝึกงานก็ได้รับค่าตอบแทนตอน พร้อมสวัสดิการ ค่าเช่าบ้านอาหารกลางวัน จบมามีเงินเดือนสูงกว่า ได้เปรียบกว่าเรียนหลักสูตรปกติเพราะได้ทักษะครบทั้งการทำงานและภาษาควบคู่กัน
นางสาววรรณวิสา สารกุล วิศวะกร บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้เข้าเรียนหลักสูตร EEC Type A เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยสัตหีบ ด้วยรูปแบบจะต่างจากการเรียนปกติ เพราะได้ฝึกงานที่โรงงานฟอร์ด สลับกับเรียนในวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ทำให้เห็นการทำงานและปัญหา พร้อมเรียนรู้การทำงานจากเครื่องมือจริง ระหว่างเรียนยังได้รับเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการด้านอาหาร ชุดพนักงาน รถรับส่งเมื่อจบการศึกษายังได้ทำงานในตำแหน่งตรงกับการฝึกงานด้วย
โดยเฉพาะการฝึกงานในโรงงานได้เห็นถึง ต้องทำต้องเจออะไรบ้าง เป็นมากกว่าทักษะการเรียนในวิทยาลัยซึ่งได้แค่จับแค่หุ่นยนต์ตัวเล็ก แต่ในโรงงานมีหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ใช้งานจริง ได้ใช้โปรแกรมโรงงานจริงเรียนรู้วีการควบคุมอย่างถูกต้อง เมื่อเรียนจบทางบริษัทฯก็รับให้ทำในตำแหน่งที่ฝึกงานตรงสาขาเป็นผลดีต่อการทำงานในระยะยาว
ส่วนการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ภายใต้ “อีอีซี โมเดล ดังกล่าว” ยังตอบโจทย์ การศึกษาหัวข้อ ระบบอัตโนมัติในภาคการผลิต : ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ และนัยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ของอีอีซีที่ศึกษาถึงผลการใช้ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ต่อผลิตภาพการผลิตและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย ได้ใช้ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) 12,792 โรงงาน (ช่วงปี 2560 -2563) ครอบคลุม 22 สาขาอุตสาหกรรม

ซึ่งมีข้อสรุปสำคัญพบว่า การลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของไทย สามารถนำมาใช้งานอย่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและอีอีซี มีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ จากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนของภาครัฐ ใช้งานสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก และการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์
และผลการศึกษายังชี้ชัดว่า การใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จะช่วยยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทย ไม่ได้ส่งผลลบต่อการจ้างงาน แต่ทำให้เกิดการจ้างงานรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการแรงงานทักษะสูง จะเป็นทิศทางสำคัญที่อีอีซีทำต่อเนื่องมาตลอด เรื่องการเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน รองรับภาคอุตสหกรรมที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูง เข้าไปสนับสนุนการแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต สร้างตำแหน่งงานมั่นคง ทำรายได้ดีให้คนไทย
ดังนั้นหลักสูตร “อีอีซี โมเดล” จึงเป็นการศึกษายุคใหม่ พัฒนาบุคลากรให้ทักษะสูงตรงตามความต้องการ สร้างความพร้อมให้บุคลากรก่อนลงสู่ตลาดแรงงาน ขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นต้นแบบการศึกษาของไทยที่จะนำไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาส และป้องกันปัญหาเด็กจบใหม่ไม่มีงานทำได้ด้วย
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen