

ความร่วมมือธนาคารกลางอาเซียน เพื่อส่งเสริมการชำระเงินระหว่างประเทศให้รวดเร็ว ถูกลง โปร่งใส และเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น
- 3 ธนาคารกลาง “อินโดนีเซีย -มาเลเซีย -ไทย”
- ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น สนับสนุนเศรษฐกิจระหว่างกัน
- เสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดเงินในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 10 (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของภูมิภาคอาเซียน โดยมีการลงนามความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค(Regional Payment Connectivity: RPC) ที่ริเริ่มโดยธนาคารกลางของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และในการประชุมครั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศเวียดนาม ได้ลงนามความร่วมมือดังกล่าวด้วย ทำให้ธนาคารกลางในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 6 ธนาคาร
สำหรับRPC ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการชำระเงินระหว่างประเทศให้รวดเร็ว ถูกลง โปร่งใส และเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมการชำระเงินรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมระบบ QR Code และการเชื่อมระบบการชำระเงินแบบทันที (fast payment) โดย RPC มีเป้าหมายของ RPC ในการทำให้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ไร้รอยต่อ และสะดวก ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจทำธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น

ความร่วมมือ RPC จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งนี้ ระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกัน จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการโอนเงินภายในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ในระยะต่อไป RPC สามารถขยายไปยังประเทศใกล้เคียงและประเทศอื่น ๆ นอกกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น
และในการประชุมเดียวกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระธุรกรรมทวิภาคีระหว่างกัน โดย ธนาคารกลางทั้ง 3 แห่ง มุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือดังกล่าว โดยได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกรรมระหว่างประเทศประเภทอื่นเพิ่มเติมจากการค้าและการลงทุนโดยตรง ซึ่งจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือใหม่ยังสอดรับกับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน ที่จะสนับสนุนการเข้าถึงการชำระธุรกรรมระหว่างกันด้วยเงินสกุลท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดเงินในภูมิภาค และช่วยพัฒนาตลาดเงินสกุลท้องถิ่นของทั้ง 3 ประเทศ โดยบันทึกความเข้าใจนี้ จะใช้แทนบันทึกความเข้าใจฉบับเดิมที่ธนาคารกลางทั้ง 3 แห่ง ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 และวันที่ 23 ธันวาคม 2559
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระธุรกรรมทวิภาคีระหว่างกัน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 โดยได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกรรมระหว่างประเทศประเภทอื่นเพิ่มเติมจากการค้าและการลงทุนโดยตรง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดเงินในภูมิภาค และช่วยพัฒนาตลาดเงินสกุลท้องถิ่นของทั้ง 3 ประเทศ