

- กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม
- โดย 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้น ในบริษัทใหม่
- 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้น ในบริษัทใหม่
- “ศุภชัย” วางเป้าต่อไป ต้องผนึกกำลังเป็นลักษณะ (PPP) เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การแข่งขันระดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ย.64)บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทระหว่างกัน และรับทราบความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ TRUE เมื่อวันที่ 20 พ.ย.64 มีมติอนุมัติให้บริษัทศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน โดยให้แต่ละบริษัทเข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัทด้วย

นอกจากนี้ยังได้พิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท (บริษัทใหม่) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ TRUE และผู้ถือหุ้นของ dtac ในอัตราส่วนดังนี้ 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
ทั้งนี้อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกำหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด จำนวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม จำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดและมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทใหม่ ภายหลังการควบบริษัท จะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของ TRUE และ DTAC พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของการควบบริษัทต่อไป

รวมถึงรับทราบจากบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TRUE และ Telenor Asia ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ DTAC โดย Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อในราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท
สำหรับด้านที่ประชุมคณะกรรมการ DTAC มีมติอนุมติให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน รวมถึงการ MOU เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจกับ TRUE เข้าด้วยกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท
นอกจากนี้ บริษัทพิจารณากำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท (บริษัทใหม่) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของ True ในอัตราส่วนดังนี้ 1 หุ้นเดิมในบริษัทฯต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน True ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่
ด้าน Telenor Asia Pte Ltd (Telenor Asia) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ DTAC สนับสนุนให้บริษัทพิจารณาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทตามรายละเอียดข้างต้น นอกจากนี้รับทราบว่า Citrine Global มีความประสงค์ที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ก่อนการทำคำเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นละ 47.76 บาท
ทั้งนี้การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สามารถขายหุ้นของตนในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผนึกกำลังกับทางเทเลนอร์ ถือเป็นวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก เพื่อเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันระดับประเทศ ภูมิภาค และมหาอำนาจของโลก ซึ่งการผนึกกำลังครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะกับพาร์ทเนอร์ของบริษัทเท่านั้น ต่อไปต้องผนึกกำลังเป็นลักษณะ (Public Private Partnership หรือ PPP) การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศ
ทั้งนี้บริษัทเล็งเห็นว่าทั้งสองบริษัทฯ คือ TRUE และ DTAC มีข้อจำกัดทางธุรกิจบางอย่า ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อได้ โดยความเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผู้บริโภคได้ ซึ่งตลอดนี้ก็พบบทบาทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์สร้างเทคโนโลยีในประเทศไทยให้เกิดขึ้นหลายด้าน มีภาครัฐเข้าร่วมเทคโนโลยี เทกสตาร์ทอัพ สร้างการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โรงเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและอื่นๆ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ การดึงเอาผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม

“จากนี้บริษัท เน้นเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ ดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม และคลาวด์เทคโนโลยี สิ่งที่ค้นหาต่อไป คือ ศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เวนเจอร์แคปปิตอล บริษัทฯใหม่ต้องระดมทุน 200 ล้านเหรียญ สนับสนุนเทกสตาร์ทอัพให้ไทยเจริญเติบโตและทรานฟอร์มเป็นเทคโนโลยีฮับในภูมิภาค และ ระดับโลก” นายศุภชัยกล่าว
ด้านนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาแล้วมากมาย ดังนั้น ขณะที่ยังพัฒนาต่อไปทั้งเพื่อผู้บริโภค และธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ได้รับบริการที่ล้ำสมัย และการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดย DTAC เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย กล่าวว่า บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นหลัก