

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่า จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้างรถไฟไทย –จีน สัญญาที่ 3–1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ทาง รฟท.ขอชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณาให้ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัท นภาก่อสร้าง และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว และ ต่อมาทาง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ปจำกัด ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง
ซึ่งหลังจากได้พิจารณาแล้ว ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากเห็นว่าการทุเลาบังคับคดีในครั้งนี้ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐและไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ รับปฏิบัติตามศาลปกครองกลาง จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทาง รฟท.ได้เปิดประมูลโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และ ช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กิโลเมตร ราคากลาง 11,386 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ITD-CREC No.10JV ของกลุ่มอิตาเลียนไทย ที่เสนอราคา 9,349 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 2,037 ล้านบาท
แต่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ของกลุ่มนภา ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มนภาฯ ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมการประมูลด้วย แต่ตกรอบคุณสมบัติ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ มองว่า เอกสารการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเข้าร่วมประมูลไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ กลุ่มนภาฯ ยังเห็นว่า ข้อเสนอด้านราคาของกลุ่มตัวเอง ต่ำกว่าข้อเสนอของกลุ่มอิตาเลียนไทยซึ่งเป็นผู้ชนะ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลในครั้งนี้
นอกจากนั้นทาง รฟท. ยังได้ส่งคำอุทธรณ์ของกลุ่มนภาฯ ไปให้กรมบัญชีกลางพิจารณาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยคำตัดสินของกรมบัญชีกลางจะเป็นที่สิ้นสุด แต่หากกรมบัญชีกลางไม่รับฟังคำอุทธรณ์และผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นฟ้องร้องในชั้นศาลต่อได้
อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ของกรมบัญชีกลาง พิจารณาแล้วว่าคำอุทธรณ์ของกลุ่มนภาฯ ฟังขึ้น จึงส่งเรื่องมาให้การรถไฟฯ ดำเนินการ ทางกลุ่มอิตาเลียนไทยจึงไปฟ้องร้องศาลปกครอง และศาลฯ มีคำสั่งทุเลาการประมูล รถไฟไทย-จีน ดังกล่าวออกมา