ยูเอสทีอาร์คงไทยอยู่ในบัญชี”WL”ต่ออีกปี

  • ชมไทยป้องกัน-ปรามปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ดี
  • แต่ยังกังวล”พัฒน์พงษ์”ขายของเถื่อนเกลื่อนอีกแล้ว
  • พาณิชย์ย้ำน่าพอใจยังอยู่สถานะเดิมหวังถูกปลดล็อกในอนาคต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 29 เม.ย.63 ตามเวลาประเทศไทย ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจําปี 63 โดยไทยยังคงรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ได้อีก 1 ปี หลังจากสหรัฐฯ ได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปี 60 ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมนโยบายและพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าการดําเนินงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ USTR ยังระบุอีกว่า ไทยยังคงพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน และเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ, การเสนอแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการละเมิดบนอินเตอร์เน็ต และเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์, การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร เพื่อแก้ปัญหาการตรวจสอบคำขอยื่นจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ล่าช้า, การปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงกังวลถึงการจำหน่ายสินค้าละเมิดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดพัฒน์พงษ์ และ www.shopee.co.th

สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชี WL ปีนี้ มี 23 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ คูเวต เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โรมาเนีย ตุรกี บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย

ด้านนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การคงสถานะดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ และในฐานะที่กำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด และหวังว่าทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันเช่นนี้ต่อไป เพื่อรักษาสถานะของไทยไว้ในบัญชี WL หรือผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน และจูงใจให้คนไทยเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมของไทย และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ