ม.หอการค้าไทยลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 3%

.จากเดิมคาด 3.6% หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด
.ส่งออกดิ่ง งบปี 67 ล่าช้า ภัยแล้งซ้ำเติมฉุดกำลังซื้อ
.แม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวหนุนส่วนปี 67 คาดโตได้ 5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิม 3.6% เป็นผลมาจากปัจจัยลบ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ การส่งออกไทยยังคงหดตัว 2% จากเดิมคาดโต 1.2%, อัตราเงินเฟ้อลดเหลือ 1.8% จากเดิมคาด 3.0%, หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูงที่ 89.5% และยังมีปัญหาความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 67 , สถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงกำลังซื้อประชาชนลดลง การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงอีกด้วย


อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถานชั่วคราว 5 เดือน, การบริโภคภาคเอกชนสูงขึ้น, การนำเข้าสินค้าลดลง และรัฐบาลชุดใหม่ มีมาตรการเร่งด่วนอช่วยเหลือประชาชน และต้องติดตามนโยบายรัฐบาลในช่วงใกล้ปีใหม่เพิ่มเติม ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ


“ปี 67 ประเมินเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยคาดขยายตัวได้ 4.5-5% หรือค่ากลาง 4.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นมาอยู่ที่ 2.5-3% โดยหวังว่านโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเติบโต คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 35 ล้านคน อีกทั้งการบริหารงานของรัฐบาล 4 ปีจากนี้หวังว่าจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลง มาอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพี และมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เกษตรกร และธุรกิจ”


ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน และพักชำระหนี้ มียอดหนี้รวม 283,000 ล้านบาท จะช่วยประหยัดรายจ่ายโดยรวม 49,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินในส่วนนี้จะกลับมาเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจและมีผลต่อจีดีพีประมาณ 72,000 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายได้ 0.43%


ส่วนนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ กล่าวว่า ศูนย์ยังได้จัดทำผลสำรวจทัศนะต่อมาตรการ นโยบายลดค่าครองชีพ และประเด็นความกังวลต่างๆ ในปัจจุบันและอนาคต พบว่า ปัจจุบันประชาชนกังวลมากในเรื่องราคาอาหาร ของใช้จำเป็น ค่ารถสาธารณะ รองลงมา คือ ภาระหนี้สิน ภาวะเศรษฐกิจประเทศ ส่วนใน 6 เดือนข้างหน้า กังวลมากในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง รองลงมาเป็นค่ารถสาธารณะ และราคาน้ำมัน


ขณะที่ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 2 บาทนั้น ส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันเท่าเดิม และเงินที่เหลือจากราคาน้ำมันที้ลดลง ประชาชนนำเงินไปใช้อย่างอื่นเพิ่มขึ้น ส่วนการลดค่าไฟ หน่วยละ 46 สตางค์ ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ไฟเท่าเดิม เงินเหลือก็นำไปใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ มาตรการฟรีวีซ่า และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และทำให้มองว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น