

ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (24 มี.ค.64) บรรยากาศ การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่แยกราชประสงค์โดยตั้งแต่เวลา 16.30 น. กลุ่มมวลชนได้เริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่ พร้อมกับจับกลุ่มกันตามฟุตบาท โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย
จากนั้นเมื่อเวลา 16.50 น กลุ่มนักศึกษาประมาณ 10 กว่าคน ได้เดินข้ามถนนจากฝั่งห้างเกษรวิลเลจ พร้อมรถขนอุปกรณ์สร้างเวทีชั่วคราว มายังแยกราชประสงค์ และได้เชิญชวนผู้ชุมนุมที่กระจายตามจุดต่างๆ ให้ลงมาบนพื้นผิวจราจร เพื่อดำเนินการปิดถนน และตั้งเวทีปราศรัย ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกบริเวณดังกล่าว รวมถึงยังมีรถยนต์ ยานพาหนะยังคงพยายามวิ่งผ่านในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศปิดถนนอย่างเป็นทางการ ทำให้การจราจรกลายเป็นอัมพาตไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลได้จัดกำลังดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุม 18 กองร้อย จากนั้น พ.ต.อ.จักรกฤษโฉสูงเนิน ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี ได้ นำประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอ่านให้ผู้ชุมนุมฟังว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจากนั้นได้มีเสียงตะโกนด่าว่า และมีเสียงขับไล่ จากกลุ่มผู้ชุมนุม
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อย ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวบควบคุมฝูงชนจำนวน 2 กองร้อย รวมทั้งยังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือ จีโน่ 2 คัน, รถควบคุมผู้ต้องหา, รถเครื่องขยายเสียง และรถดับเพลิง เตรียมไว้พร้อมรับมือการชุมนุมในครั้งนี้
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสตช. กล่าวถึงการดูแลผู้ชุมนุมวันนี้ว่า เป็นการชุมนุมที่ผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรค และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถ้าหากมีความรุนแรงหรือมีความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่หากการชุมนุมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และบ้านเมืองเกิดความไม่เรียบร้อย ยืนยันว่า ตำรวจไม่ใช่ผู้ขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุม อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่จะต้องดูในจุดของการชุมนุม ต้องไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น แม้ว่าไม่มีความรุนแรง แต่ตำรวจเก็บรวบรวมหลักฐานและดำเนินคดีต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนการตั้งเวทีปราศรัยการชุมนุมในครั้งนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีความผิดตามกฏหมาย
“สิ่งที่เจ้าหน้าที่ห่วงคือการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรที่ไม่อยากให้ประชาชนในบริเวณนี้ได้รับความเดือดร้อนและจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญของเศรษฐกิจในประเทศของกรุงเทพ ” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อมีการสอบถามว่า หากเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน เจ้าหน้าที่มีมาตรการในการดูแลผู้ชุมนุมอย่างไร และมีการสั่งการเป็นพิเศษหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการสังเกตการณ์และบันทึกภาพอยากจะฝากให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และผู้ที่ไม่มีปลอกแขนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล เราจะเร่งดำเนินการจัดหามาให้ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสื่อจริง ปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย และการประสานงานระหว่างสื่อ ทางเราเร่งที่จะสร้างความเข้าใจรวมทั้งสื่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย นอกจากนี้ ยูทูปเบอร์ที่มาถ่ายการชุมนุม จะต้องลงทะเบียนสื่อด้วย
ในส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุม วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายสื่อมวลชนนั้น ตนยังไม่ได้รับการรายงาน แล้วตอนนี้ได้มีการทบทวนการปฎิบัติหน้าที่ซึ่ง ผบ.ตร. ให้ความสำคัญในการทำงานของสื่อมวลชน เราต้องยอมรับว่าเรามีความผิดพลาดและกำลังแก้ไขอยู่ รวมทั้งทบทวนการปฎิบัติหน้าที่ของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สำหรับกำหนดการจะมีแกนนำคนสำคัญขึ้นปราศัย ประกอบด้วย น.ส.ภัทราวดี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ น.ส.เบนจา อะปัญ และครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ มาขึ้นเวทีในครั้งนี้