มีลุ้น!รัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก.ย.นี้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า คาดว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 นี้โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแต่ขอให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ ศักยภาพการจ่ายของนายจ้าง เศรษฐกิจโดยรวม ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและประสิทธิภาพแรงงานที่ในแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากัน โดยหากการปรับขึ้นสูงเกินธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)และรายย่อย(ไมโครเอสเอ็มอี)ที่เพิ่งจะฟื้นตัวจะแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ได้ที่สุดจะไปไม่รอด ขณะเดียวกันค่าแรงที่สูงเกินไปก็ย่อมถูกส่งผ่านไปยังการขึ้นของราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ เช่นปี 2565 หากเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยขยายตัว 7% กรณีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกทม.อยู่ที่ 331 บาทต่อวันจะขึ้นอีกประมาณ 23 บาทต่อวันหรือ 700 บาทต่อเดือนหากมีแรงงาน 100 คนก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 70,000 บาทต่อเดือนจะเห็นว่าอัตราเฉลี่ยหากเพิ่มขึ้น 21-23 บาทต่อวันเอกชนรายใหญ่คงจะไม่มีปัญหาสามารถแบกรับได้ แต่ยังคงต้องมองความสามารถของเอสเอ็มอีและไมโคเอสเอ็มอีด้วยเช่นกันว่าจะรับได้มากน้อยเพียงใด

“ เรากำลังพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกว่า Minimum Wage ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้ไม่น้อยกว่ากฏหมายกำหนด ปัจจุบันมี 10 อัตราแต่ละจังหวัดไม่เท่ากันต่ำสุดวันละ 313 บาทและสูงสุดวันละ 336 บาทที่มีเพียงจังหวัดชลบุรีและจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่ได้รับ ซึ่งการปรับมีการคาดหวังว่าจะต้องมากพอเลี้ยงดูครอบครัว การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้เพราะเงินเฟ้อสูงขณะนี้เป็นภาวะผิดปกติที่เกิดจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น้ำมัน ราคาวัตถุดิบ สินค้าต่างๆสูงขึ้นและยังคงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และไทยเองก็เจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งน้ำมันแพง บาทอ่อน เงินเฟ้อเพิ่ม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหากมากเกินไปตลาดอาจรับไม่ได้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและแรงงานในที่สุด”นายธนิต กล่าว

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า แนวโน้มการจ้างงาน ครึ่งปีหลังมีสัญญาณการจ้างงานที่จะทยอยฟื้นตัวจากการเปิดท่องเที่ยวเต็มรูปแบบซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้แรงงานที่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการทยอยกลับมาสู่ระบบมากขึ้นจากแรงงานในภาคนี้มีราว 3.9 ล้านคนแม้ว่าอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทั้งหมดเพราะคาดว่าการท่องเที่ยวต่างชาติจะมีราว 8-10 ล้านคนซึ่งก็ยังไม่เทียบกับกับอดีตที่ผ่านมาก็ตาม รวมไปถึงในภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่เริ่มกลับมาเช่นกัน เมื่อรวมกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะส่งผลให้ปี 2565 การจ้างงานจะสูงกว่าปี 2564 แต่จะมากน้อยเพียงใดยังคงต้องจับตาเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกพอสมควร

นายธนิต กล่าวว่า ราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งจะเห็นว่านับตั้งแต่เดือนม.ค.65 จนถึงปัจจุบันน้ำมันเวสเท็กซัสหรือ WTI ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 40.72% หรือ 30.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ดีเซลขายปลีกไทยที่รัฐอุดหนุนอยู่เพิ่มขึ้น 40.43% หรือเพิ่มขึ้น 11.50 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 43.43% หรือ 13.50 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าเงินบาทไทยครึ่งปีแรกอ่อนค่าไปแล้ว 6.69% สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและเศรษฐกิจไทย