

- อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย
- มีบทบาทยุติสงครามเย็น พารัสเซียนสู่ทุนนิยม
- เลขา UN ยกย่องสร้างสันติภาพอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) โดยเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามเย็น และนำพาประเทศเปลี่ยนจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ระบบทุนนิยม
ทั้งนี้ โรงพยาบาลเซนทรัล คลินิคัลของรัสเซีย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า นายกอร์บาชอฟ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลังจากล้มป่วยมาเป็นเวลานาน
โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เปสคอฟ ออกแถลงการณ์ว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบัน แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และจะส่งโทรเลขแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการไปยังครอบครัวของนายกอร์บาชอฟอีกครั้ง
ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า นายกอร์บาชอฟเป็น “ผู้นำที่สูงส่ง มุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์พหุภาคี และเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”
นายกอร์บาชอฟเกิดที่หมู่บ้านปรีโวลโนเย ในเมืองสตาฟโรโพลของรัสเซีย และเติบโตขึ้นภายใต้การปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1985 และปี1991 โดยได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปมากมาย รวมทั้งการให้เสรีภาพทางด้านการเมืองแก่ประชาชน ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมากขึ้น และริเริ่มความร่วมมือกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้ตกลงทำสัญญาลดการครอบครองอาวุธหลายฉบับ
ความพยายามปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ชาติตะวันตกยกย่องนายกอร์บาชอฟว่าเป็นผู้ปูทางสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่กินระยะเวลามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1990 ในบทบาทการยุติสงครามเย็น
อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียจำนวนมากมองว่า นายกอร์บาชอฟ เป็นต้นเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย จากนโยบายเปิดเสรีทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เปิดช่องให้สาธารณรัฐต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาพโซเวียตแยกตัวเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ นโยบายปฏิรูปด้านต่างๆ ยังนำไปสู่ความวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพ จนเศรษฐกิจของประเทศเกิดปัญหาและคุณภาพชีวิตประชาชนตกต่ำ