“มาครง”ผู้นำฝรั่งเศสประณามจลาจล วอนสังคมหยุดความรุนแรง

  • ขอให้ผู้ปกครอง-โซเชียลยุติความวุ่นวาย
  • หลังจลาจลยืดเยื้อ 4 คืน
  • แต่ยังไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ร่วมประชุมฉุกเฉินกับคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันศุกร์ (30 มิถุนายน 2566) เพื่อหาทางควบคุมสถานการณ์จลาจลที่ยืดเยื้อนับจากเหตุการณ์ตำรวจวิสามัญวัยรุ่นชายวัย 17 ปี ที่ขับรถหนีตอนถูกเรียกหยุดตรวจในกรุงปารีสเมื่อวันอังคาร

เขาประณามผู้ที่ใช้สถานการณ์นี้เพื่อก่อความไม่สงบและพุ่งเป้าสถาบันต่าง ๆ ในประเทศ และประณามการก่อความรุนแรงที่ไม่มีความชอบธรรมและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับเรียกร้องให้โซเชียลมีเดียให้ความร่วมมือกับทางการเพื่อยุติความรุนแรง ด้วยการลบเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวมากที่สุด และแจ้งเบาะแสแก่ทางการเมื่อพบบุคคลที่ใช้โซเชียลมีเดียปลุกระดมและส่งเสริมความรุนแรง

นอกจากนี้เขาขอให้ผู้ปกครองควบคุมบุตรหลานให้อยู่ในบ้าน หลังจากผู้ถูกจับกุมจำนวนมากเป็นวัยรุ่น ซึ่งบางคนมีอายุเพียง 13 ปี และบอกด้วยว่าจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่จะยังไม่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ขณะที่ยังคงมีรายงานการก่อความวุ่นวายและการปะทะระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจในหลายเมืองทั่วประเทศ ในคืนวันศุกร์เป็นคืนที่ 4 ติดต่อกัน โดยรถยนต์และรถโดยสารและอาคารถูกเผา ร้านค้าถูกปล้นสะดม รวมถึงมีการขว้างปาสิ่งของและดอกไม้ไฟใส่ตำรวจ โดยในเมืองมาร์เซยมีการปล้นปืนจากร้านขายปืนด้วย

รัฐบาลระดมกำลังตำรวจ 45,000 นาย รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ และเฌราล์ด ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวว่าสถานการณ์จลาจลเริ่มผ่อนคลายลง หลังจากมีผู้ถูกจับกุมลดลงเหลือ 471 คนในคืนวันศุกร์ เมื่อเทียบกับ 917 คนในคืนวันพฤหัสบดี

ขณะที่ศพของนาเฮล เอ็ม วัยรุ่นชายเชื้อสายแอลจีเรีย วัย 17 ปีที่ถูกตำรวจวิสามัญ จะได้รับการประกอบพิธีฝังในวันเสาร์นี้ ส่วนตำรวจวัย 38 ปี ที่ยิงนาเฮลเสียชีวิต ถูกจับกุมและตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยบันดาลโทสะเมื่อวันพฤหัสบดี และมูเนียแม่ของนาเฮล เชื่อว่าตำรวจนายนี้ยิงลูกชายเพราะมองว่าเขามีหน้าตาเป็นคนอาหรับ

โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องว่า ฝรั่งเศสควรใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาเรื่องชาตินิยม และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในการบังคับใช้กฎหมาย และควรมีการสอบสวนอย่างรวดเร็วต่อข้อกล่าวหาการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ แต่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ