มั่นใจอาหารทะเลไทยปลอด “ไอยูยู”

  • พาณิชย์ลุยตรวจตลาดทะเลไทย
  • ไม่พบลักลอบจากเพื่อนบ้านมาขาย
  • ยันนำเข้าอย่างถูกกต้องตรวจสอบได้

“พาณิชย์” จับมือกรมประมง ตรวจสอบสินค้าประมง ที่ตลาดทะเลไทย มั่นใจปลอดไอยูยู ย้ำไม่พบลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้านมาจำหน่าย จนกระทบราคาในประเทศ อีกทั้งมีระบบตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ส่วนการนำเข้าสินค้าประมงจากเพื่อนบ้านที่ ไม่มีไอยูยู ต้องหารือและฟังความเห็นรอบด้านก่อน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กรมการค้าภายใน และกรมประมง เพื่อติดตามสถานการณ์สินค้าประมง ณ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร เพราะเป็นตลาดที่มีการขายส่งสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสินค้าทั้งที่เป็นของไทยและที่นำเข้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของการค้าทั้งประเทศ โดยไม่พบปัญหาลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่มีข่าวว่ามาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ทำให้ราคาสินค้าประมงของไทยสูงขึ้น จนต้องมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาจำหน่าย และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าประมงในประเทศ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ ผู้ค้าในตลาดทะเลไทย (แพปลา) พบว่า มีระบบการซื้อขายที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและแหล่งที่มาของสินค้าก่อนจำหน่ายได้ โดยในการซื้อขายสินค้า กรมประมงจะมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (เอ็มซีพีดี) ณ ท่าเทียบเรือ หนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (ไอเอ็มดี) ณ ด่านที่มีการนำเข้าสัตว์น้ำ ก่อนที่จะมากระจายต่อที่ตลาดทะเลไทย และผู้ประกอบการ มีมาตรการควบคุมที่ใช้ในระหว่างขนถ่ายมาตลาด ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการนำสินค้าประมงลักลอบผิดกฎหมายมาจำหน่ายในตลาดแน่นอน

สำหรับสินค้าประมงจากเพื่อนบ้าน ที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาไอยูยูนั้น หากไทยจะนำเข้า รัฐบาลจะต้องหารือและรับฟังจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพราะมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ทั้งเรือประมง แรงงาน ผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูป เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆ ของโลก การนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามหลักสากล โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ หรือไม่มีในไทย จำเป็นต่ออุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออกของไทย เพราะไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 62,000 ล้านบาท