ฟรุ้ทบอร์ด เคาะโครงรพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน เร่งเดินหน้าแผนพัฒนาผลไม้ 5 ปี

  • รับมือสถานการณ์แข่งขันใหม่
  • เตรียมชงขอครม.ของบเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไย
  • รายละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 บาทต่อไร่

นายอลงกรณ์    พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (ZOOM Meeting) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ “โครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน” เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดูและนอกฤดู เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 ตามความต้องการของตลาดสอดคล้องกับแผนพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570 และรายงานการศึกษาวิเคราะห์เสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย รวมทั้งยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโดยบูรณาการการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจเกษตรกรที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาตลาดล่วงหน้า เพื่อรองรับผลผลิตนอกฤดูตามเป้าหมายของโครงการและมอบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอหลักการและคุณสมบัติเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ และอัตราดอกเบี้ยในการเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2/2565 (กรกฎาคม – ตุลาคม) โดยสถานการณ์ลำไย ภาคเหนือ สามารถดำเนินการได้ตามแผนบริหารจัดการ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 742,563 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตภายในประเทศ จำนวน 138,677 ตัน หรือร้อยละ 18.68 ผ่านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ และตลาดผลไม้ภายในจังหวัด เป็นต้น อีกทั้งยังมีการแปรรูป ทั้งลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และอื่น ๆ เช่น ลำไยกระป๋อง และน้ำลำไยสกัดเข้มข้น จำนวน 511,434 ตัน หรือร้อยละ 68.87 และส่งออก จำนวน 92,451 ตัน หรือร้อยละ 12.45 สถานการณ์ทุเรียน ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 328,818 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ จำนวน 116,868 ตัน หรือร้อยละ 35.54 การแปรรูป ทั้งแช่แข็ง อบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น ๆ จำนวน 18,191 ตัน หรือร้อยละ 5.53 และส่งออก จำนวน 193,760 ตัน หรือร้อยละ 58.93 สถานการณ์มังคุด ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 19,536 ตัน แบ่งเป็น กระจายภายในประเทศ 15,416 ตัน หรือร้อยละ 78.91 การแปรรูป ทั้งอบแห้ง ฟรีซดราย กวน และอื่น เช่น ไอศกรีม และน้ำมังคุด จำนวน 78 ตัน หรือร้อยละ 0.40 และการส่งออก (ผลสด) จำนวน 4,042 ตัน หรือร้อยละ 20.69 สถานการณ์เงาะ ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 25,956 ตัน และสถานการณ์ลองกอง ภาคใต้ มีปริมาณผลผลิตรวม 2,007 ตัน ซึ่งมีบริหารจัดการโดยการกระจายภายในประเทศทั้งหมด ผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน Modern Trade ตลาดออนไลน์ และจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 ฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางให้มีขนาดพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 บาทต่อไร่ กรอบวงเงิน 3,821.54 ล้านบาท รอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบแนวทางการเปลี่ยนรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่สำหรับผลไม้ส่งออกซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ฉลากติดภาชนะบรรจุผลไม้ 13 ชนิดส่งออกไปจีน จะต้องระบุรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่เท่านั้น โดยผลไม้ จำนวน 13 ชนิดส่งออกไปจีน ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด มะม่วง ชมพู่ ขนุน กล้วย สับปะรด มะพร้าว มะขาม เงาะ และส้มโอ ส่วนที่เหลืออีก 9 ชนิด ได้แก่ น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน และส้ม (จีนอนุญาตรวม 22 ชนิด) ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนกับจีน จึงยังไม่กำหนดว่าต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับจีน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะขยายตลาดและการขนส่งผลไม้จากท่าเรือจังหวัดตราดไปท่าเรือจ้านเจียง (Zhanjang Port) ประเทศจีน โดยใช้เรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิ ขนาด 300 ตู้ ขึ้นไปจะทำให้มีความคล่องตัวในการขนส่งผลไม้จากภาคตะวันออกไปจีนมากขึ้นและมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลางในการศึกษาโครงการดังกล่าว