พิษ! สงครามยูเครน-รัสเซีย “ไอเอ็มเอฟ” ลดเป้าเศรษฐกิจโลกปี 65-66 ขยาย 3.6%

  • ผลกระทบของสงครามในวงกว้างยืดเยื้อ
  • การระบาดของโควิดระลอกใหม่
  • อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เปิดรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัว 3.6% ทั้งในปี 2565 และ 2566 ลดลงจากการประเมินเมื่อเดือนมกราคม ที่มองว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% ในปี 2565 และ 3.8% ในปี 2566 โดยชี้ว่า สงครามในยูเครน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอการขยายตัวลง และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงานระบุว่า มาตรการลงโทษต่อภาคพลังงานของรัสเซีย ผลกระทบของสงครามในวงกว้าง และการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ล้วนส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อในระดับสูงจะยิ่งสร้างปัญหาปากท้องให้กับประชาชนในหลายประเทศ และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม

โดยนายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต้องก้าวถอยหลัง เพราะรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“ผลของสงครามนี้เหมือนคลื่นแผ่นดินไหวที่สะเทือนไปอย่างกว้างขวางและยาวไกล กระทบต่อตลาดและการค้าต่าง ๆ รวมถึงภาคการเงิน”

ขณะที่สงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากการขาดสมดุลในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้า ที่ต่อเนื่องมาจากช่วงโควิดระบาดใหญ่ รวมถึงการล็อกดาวน์ล่าสุดในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ทำให้ภาคการผลิตของจีนหยุดชะงักตามไปด้วย

ไอเอ็มเอฟประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วในปีนี้ จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.7% เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน และอัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ในการประเมินเมื่อเดือนมกราคม

นอกจากนี้ ยังมองว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจรัสเซีย และยูเครนจะหดตัวลงอย่างมาก โดยเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 8.5% ในปี 2565 และ 2.3% ในปี 2566 ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ และชาติตะวันตก ขณะที่เศรษฐกิจยูเครนจะหดตัวมากถึง 35% ในปี 2565 และระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้การวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูเครน จากการทำสงครามกับรัสเซีย พร้อมกันนี้ ยังปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ลงอีก 1.1% จากการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว

“ธนาคารกลางของหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ได้เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบรัดเข็มขัดแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามในยูเครนจะยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป”