“พิพัฒน์” ลงพื้นที่อุดรฯ ถกแรงงานนอกระบบ 

“พิพัฒน์” ลงพื้นที่อุดรฯ ถกแรงงานนอกระบบ ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” บ้านยามกาใหญ่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี  

  • “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” ส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน 
  • สร้างงานให้กลุ่มผู้สูงวัยมีงาน มีรายได้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัด อุดรธานี ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” โดยมีนางพรทิพย์ รามฤทธิ์ ประธานกลุ่มและสมาชิกให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการกลุ่ม บ้านยามกาใหญ่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี  

โดยนายพิพัฒน์ เผยว่า การลงพื้นที่อีสานเหนือในครั้งนี้ มีความตั้งใจนำคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุถึง 222,278 คน หรือร้อยละ 14.01 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,563,048 คน จากจำนวนดังกล่าวถือว่าจังหวัดอุดรธานีเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว นอกจากนี้จังหวัดอุดรฯ ยังมีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมากถึง 492,776 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการเกษตรและประมง ด้านงานบริการ และด้านความสามารถทางฝีมือ ตามลำดับ ในส่วนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน มีทั้งสิ้น 602,364 คน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 585,543 คน และผู้ว่างงาน 8,953 คน หรือร้อยละ 0.57 ของประชากรทั้งหมด

ทั้งนี้จากสถานการณ์แรงงานดังกล่าว ทำให้แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานีเกี่ยวพันกับแรงงานนอกระบบอย่างยิ่ง และด้วยกระทรวงแรงงานมีภารกิจในการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้มีงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือ และมีความปลอดภัยในการทำงาน ในวันนี้ผมจึงลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงาน การแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ กระติบข้าว ขันใส่บาตร พานตักบาตร ตระกร้าไผ่  ตระกร้าหวาย มวยนึ่งข้าว กระเป๋าสตางค์หวาย กระเป๋าถือสานไผ่ ซึ่งเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างไม่รู้จบ จากการพูดคุยกับคุณพรทิพย์ ประธานกลุ่ม และยังเป็นอาสาสมัครแรงงานประจำตำบล กำลังสำคัญในการประสานภารกิจของกระทรวงแรงงานกับชาวบ้าน ทำให้ทราบว่า กลุ่มรับงานไปทำที่บ้านไม้ไผ่แปรรูป มีสมาชิก จำนวน 10 คน และมีการแจกจ่ายงานไปยังสมาชิกในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มากกว่า 150 คน สร้างรายได้ 4,000 – 5,000 บาท ต่อเดือนต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้เสริมที่ไม่น้อย

“การสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในชุมชนสนับสนุนแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้แรงงานไม่ต้องออกจากพื้นที่เพื่อทำงานไกลบ้าน สามารถรับงาน ทำงาน และนำค่าจ้างที่ได้รับใช้จ่ายหมุนเวียนในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างแท้จริง” รมว.แรงงาน กล่าว