

- รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทั้งผลสด-แปรรูป
- มั่นใจช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนได้กว่าปีละ 58 ล้านบาท
- ผลักดันชุมชนอื่นนำของดีของเด่นมาขึ้นทะเบียนจีไอ
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) “มะม่วงเบาสงขลา” ทั้งผลสดและแปรรูป ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และยกระดับรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน จากปัจจุบันที่สามารถสร้างรายได้ให้จังหวัดได้ถึงปีละกว่า 58 ล้านบาท
สำหรับมะม่วงเบาสงขลา เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพและอัตลักษณ์ของรสชาติที่โดดเด่น มีรสชาติเปรี้ยว เนื้อสีขาวแน่นและกรอบ เกิดจากการปลูกในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีการทับถมของซากเปลือกหอย ส่งผลให้มะม่วงเบาสงขลามีรสชาติดีกว่าที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ โดยพื้นที่ปลูกมะม่วงเบาสงขลาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอครอบคลุม 4 อำเภอ คือ สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และระโนด

ส่วนมะม่วงเบาเบาแช่อิ่ม และมะม่วงเบาดองเกลือ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนด้วยนั้น เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมของคนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวที่มักซื้อนำไปเป็นของฝากลือชื่อจากจังหวัด และมีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนกว่าปีละ 58 ล้านบาท
“วิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจีไอได้ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมโทร. 1368”
นายสินิตย์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดขณะนี้ ไทยมีสินค้าจีไอครบ 77 จังหวัดแล้ว รวม 177 สินค้า สามารถสร้างมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าชุมชนได้สูงถึง 48,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ไทยยังมีสินค้าจีไอที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 8 สินค้า ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป, ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย และอินโดนีเซีย, กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา, เส้นไหมพื้นบ้านภาคอีสาน มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลำไยอบแห้งสีทองลำพูน ที่เวียดนาม
ขณะเดียวกัน ยังมีสินค้าจีไอที่ยื่นคำขอแล้ว และรอการขึ้นทะเบียนจีไอในต่างประเทศอีก 10 สินค้าใน 5 ประเทศ เช่นข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ที่มาเลเซีย, ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เวียดนาม, กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น ที่ญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับในปี66 มีแผนจะยื่นคำขอจดทะเบียนจีไอเพื่อขอรับความคุ้มครองในสหภาพยุโรป 1 คำขอ ซึ่งกำลังพิจารณา 1 ใน 3 สินค้านี้ คือ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี พริกไทยจันท์ และผ้าไหมยกดอกลำพูน