

- กระตุ้นให้คนให้เข้าสู่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
- สอดรับกับประชากรผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้นทุกปี
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “อนาคตธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ณ ชั้น 6 ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ระหว่างวันที่ 7-8 ต.ค.63
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้สามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ และยังช่วยสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่สนใจหันมาประกอบธุรกิจนี้ด้วยมีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 150 คนที่มาจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจสินค้า/อาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ กายภาพบำบัด นำเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
สำหรับหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจคือ “เตรียมทัพรับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ที่จะกระตุ้นแนวคิดการทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแบบ preventive ,หัวข้อ “การบริหารข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ” จากนายแพทย์ภัทรพล , หัวข้อ “เทคนิคการตลาด” และหัวข้อ “กลยุทธ์ สู่ความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ”
นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่เจรจาธุรกิจและพบกับธนาคารต่างๆ ที่มีเงื่อนไขพิเศษให้เฉพาะผู้เข้าร่วมอบรม อาทิ ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) และธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
“ธุรกิจบริการสุขภาพถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตและขยายตัวค่อนข้างสูงเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุไม่เพียงแต่ให้บริการผู้สูงอายุที่เป็นคนไทย แต่ยังดึงดูดผู้ใช้บริการจากต่างประเทศได้ด้วย จึงเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะสร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตควบคู่พร้อมไปกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง”
อย่างไรก็ตามในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็น 16.73% จากประชากรทั้งประเทศที่มีจำนวน 66 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ) ในขณะที่มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 376 ราย ซึ่งยังมีจำนวนธุรกิจไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้น
ดังนั้นกรมฯ จึงเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) สร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี