พาณิชย์ ชงครมของบ 6.98 หมื่นล้านบาท

“ภูมิธรรม”​แจ้งเกษตรกร จะรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 4 ชนิด “ข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน” หารือคลังเรื่องงบแล้ว  ไม่มีปัญหา

  • รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรสำคัญ
  • ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน
  • ร้องตั้งกองทุนพื่อการเกษตร และกองทุนสวัสดิการชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน (ควิก วิน) ในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรสำคัญ คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ประจำปีการผลิต 66/67 แล้ว โดยมีเป้าหมายดูแลเกษตรกร 6.17 ล้านครัวเรือน รวมผลผลิต 20.7 ล้านตัน วงเงินงบประมาณรวม 69,890 ล้านบาท แยกเป็นข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน เป้าหมาย 14 ล้านตัน วงเงิน 69,043 ล้านบาท, มันสำปะหลัง 740,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 6.2 ล้านตัน วงเงิน 370 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 370,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 300,000 ตัน วงเงิน 65 ล้านบาท และปาล์มน้ำมัน  380,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 200,000 ตัน วงเงิน 412 ล้านบาท 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า ได้แจ้งกับเกษตรกรว่ากระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 66/67 แล้ว หลังจากที่ได้หารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก โดยมี 4 มาตรการ ที่จะนำมาใช้ดูแลผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ย.66 เป็นต้นไป มีวงเงินที่จะนำมาใช้รวม 69,043.03 ล้านบาท และจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในวันที่ 1 พ.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป

สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝากให้กับเกษตรกรที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเองตันละ 1,500 บาท หากเกษตรกรเข้าร่วมกับสหกรณ์ เกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 500 บาท และสหกรณ์ ได้รับตันละ 1,000 บาท ระยะเวลาฝากเก็บ 1–5 เดือน เริ่มวันที่ 1 ต.ค.66-29 ก.พ.67 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไถ่ถอนออกมาจำหน่ายได้

2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อวันที่ 1 ต.ค.66-30 ก.ย.67 3.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อวันที่ 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67  4.การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท

“ทั้ง 4 มาตรการ เป็นมาตรการเร่งด่วน ที่จะนำมาใช้ดูแลราคาข้าว เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายจำนำข้าว และประกันรายได้ มั่นใจว่าจะดูแลราคาข้าวเปลือกได้ และวงเงินที่นำมาใช้รวม 69,043.03 ล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังพ.ศ.2561 เพราะได้คุยกับกระทรวงการคลังแล้ว สามารถดำเนินการได้”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แม้ชาวนาต้องการความช่วยเหลือในการลดต้นทุน ค่าปรับปรุงบำรุงดินและค่าบริหารจัดการแปลงนาไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ จากที่รัฐให้ 1,000 บาทก็ตาม แต่ก็ถือว่า มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ชาวนาพอใจ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนบข.วันที่ 1 พ.ย.นี้ สมาคมเตรียมนำเสนอให้พิจารณาการแก้ปัญหาของชาวนา ทั้งในระยะสั้น และยาว โดยเสนอให้จัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมแหล่งน้ำ จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินแบบปลอดภัยไร้ผลกระทบ, วิจัยและจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ, ลดต้นทุนการผลิต ทั้ง ปุ๋ย ยาปรายศัตรูพืช รวมถึงต้นทุนพลังงาน เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า และส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือ เครื่องจักรกลนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย, พักหนี้เกษตรกร , จัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร และกองทุนสวัดิการชาวนา เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้กับเกษตรกรเหมือนหลักการประกันสังคม