พาณิชย์ไฟเขียวขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม

พาณิชย์ไฟเขียวขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ขณะนี้ต้นทุนอื่นๆ รวมต้นทุนน้ำนมดิบ อยู่ที่ 60-70 สตางค์ ต่อกล่องหรือขวด 200 มิลลิลิตร

  • ขนาด 180-225 มม.ขึ้น 25-50 สตางค์
  • หลังน้ำนมดิบขึ้นราคากก.ละ 2.50 บาท
  • ลั่นผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยี่ห้อ ขึ้นราคาไม่เท่ากัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กรมการค้าภายใน ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ตามต้นทุนน้ำนมดิบที่เพิ่มสูงขึ้น หลังคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิล์บอร์ด) อนุมัติให้ปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมกิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท เป็นกก.ละ 22.75 บาท จาก กก.ละ 20.25 บาท สำหรับการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมครั้งนี้ จะทำให้ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมแตกต่างกันเป็นไปตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับความนิยมขนาด 180-225 มิลลิลิตร จะขึ้นราคา 0.25-0.50 บาท ถ้าขนาดใหญ่กว่านี้จะปรับขึ้นตามสัดส่วน เช่น ขวดลิตรอาจขึ้น 1-2 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ กรมได้พิจารณาเฉพาะในส่วนต้นทุนน้ำนมดิบที่สูงขึ้นเป็นหลัก ไม่รวมถึงต้นทุนค่าแรง ค่าไฟฟ้า หรือค่าบรรจุภัณฑ์ และไม่ได้อนุมัติให้ขึ้นราคาตามที่ภาคเอกชนเรียกร้องว่ามีต้นทุนการผลิตเพิ่ม 60-70 สตางค์ ซึ่งกรมพร้อมพิจารณาการขึ้นราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป แต่ก็ต้องดูแลให้ผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมอยู่ได้ด้วย

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะเปิดให้ผู้ประกอบการนม ยื่นปรับขอขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครยื่นเข้ามา โดยผู้ผลิตจะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญใช้ประกอบการขอขึ้นราคา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร ในอัตราที่มีการปรับขึ้นใหม่แล้วที่ กก.ละ 22.75 บาท และข้อมูลเกี่ยวกับสูตรการผลิต ที่มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในการผลิต ซึ่งยืนยันว่า ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นม แต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ จะปรับขึ้นไม่เท่ากัน เพราะแต่ละชนิดใช้น้ำนมดิบไม่เท่ากัน รวมถึงหากเป็นสต็อกการผลิตเก่า ที่เป็นต้นทุนเดิมก็จะต้องขายตามราคาเดิมต่อไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคานมสดและผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้กรมการค้าภายใน อนุมัติปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำนมดิบ และต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ต้นทุนอื่นๆ รวมต้นทุนน้ำนมดิบ อยู่ที่ 60-70 สตางค์ ต่อกล่องหรือขวด 200 มิลลิลิตร ซึ่งผู้ประกอบการแบกรับภาระมานานแล้ว ต้องการให้การพิจารณาปรับขึ้นราคา คำนึงถึงต้นทุนทุกด้าน ไม่ใช่แค่น้ำนมดิบเพียงอย่างเดียว