

- พบแก๊งโจรกรรมปลอมเว็บกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- หวังตุ๋นเหยื่อต่างชาติทำธุรกิจกับบริษัทเก๊
- เช็คสถานะบริษัทได้ที่แอปฯ DBD e-Service และ www.dbd.go.th
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับการประสานงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า มีกลุ่มโจรกรรม (Scammer) ปลอมแปลงเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยใช้ชื่อโดเมนเนมที่มีชื่อกรมเป็นตัวสะกดอยู่ภายในนั้นว่า http://dbdthailandcompanies.com ซึ่งมีลักษณะรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์หลักของกรม หน้าภาษาอังกฤษ และมีช่องทางให้ผู้ที่เข้าไปในเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว สามารถกรอกข้อมูลเพื่อเข้าไปตรวจสอบเลขนิติบุคคล ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งจริงกับกรม จึงชัดเจนว่า การกระทำนี้มีเจตนาเพื่อหลอกลวงให้ผู้ที่เข้าไปใช้เว็บไซต์ปลอม เชื่อว่าเลขนิติบุคคลที่ได้สมมุติขึ้นนั้น มีการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย และอาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดต่อกับผู้ทำเว็บไซต์ปลอมนี้ ถูกล่อลวงและหลงเชื่อให้ร่วมดำเนินธุรกิจจนกระทั่งเกิดความเสียหายตามมาได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมตรวจสอบการกระทำผิดในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ากลุ่ม Scammer มีพฤติการณ์ใกล้เคียงกันคือ สร้างเว็บไซต์ที่มีหน้าตาเหมือนของกรม ซึ่งจดทะเบียนโดเมนเนมที่ต่างประเทศ และให้เลขนิติบุคคล ที่กลุ่มมิจฉาชีพเป็นคนกำหนดขึ้นแก่ผู้ที่ติดต่อทำธุรกิจ โดยคาดว่า กลุ่มเป้าหมายของ Scammer ที่ต้องการให้ตกเป็นเหยื่อคือ นักธุรกิจชาวต่างชาติ
“เมื่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ นำเลขนิติบุคคลดังกล่าวมาใช้ตรวจสอบกับเว็บไซต์ปลอมแล้ว จะปรากฎข้อความที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นธุรกิจที่ถูกจัดตั้งตามกฎหมายของไทยจริง และมีตัวตนอยู่จริง จากนั้นก็ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็อาจเชื่อตาม และทำธุรกรรมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายในภายหลังได้”
อย่างไรก็ดี กรมได้ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกถึงที่มาและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าว และได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย และการปราบปรามผู้กระทำผิดทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว โดยยืนยันว่า จะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ก่อนจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนถึงขั้นเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
“กรมขอเตือนไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และจำเป็นต้องตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด โดยตรวจสอบได้ 2 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน DBD e-Service และเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th เท่านั้น (ค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Data Warehouse+ ไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยที่กำลังติดต่อหรือจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติ นอกจากจะใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกจากกรม เป็นเอกสารให้คู่ค้าพิจารณาเพื่อเป็นเครื่องยืนยันความมีตัวตนแล้ว กรมยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจชาวต่างชาติให้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านระบบ DBD Data Warehouse+ ได้อีกช่องทาหนึ่งงด้วย เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลแบบเชิงลึกสร้างความมั่นใจและตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจอีกขั้น
