พาณิชย์ลุยทำยุทธศาสตร์การค้าระยะ 5 ปี

.หวังวางทิศทางการพัฒนาในอนาคตให้ชัดเจน 

.ล่าสุดเปิดฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

.หลังกำหนดสินค้า-บริการเป้าหมายได้แล้ว 4 กลุ่ม

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของไทย ระยะ 5 ปี ว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการค้าของไทย หลังจากที่ได้กำหนดกลุ่มสินค้าและบริการเป้าหมายในเบื้องต้นแล้ว 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 2. กลุ่มสาขาบริการสุขภาพ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยมีขีดความสามารถ ทั้งในด้านการผลิต ความพร้อมในการให้บริการ และการแข่งขัน และยังเป็นกลุ่มที่เป็นอนาคตของประเทศ คาดว่าจะได้เห็นร่างทิศทางการค้าดังกล่าวได้ในเดือนมิ.ย.นี้   

“สำหรับ 4 กลุ่ม ที่สนค. คัดเลือกมาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทยนั้น เพราะเป็นกลุ่มที่สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลก ทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี ห่วงโซ่มูลค่าโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือแม้แต่ผลกระทบจากโควิด-19 และไทยยังมีจุดแข็ง มีโอกาส อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เช่น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ BCG Economy (เศรษฐกิจไบโอชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาการค้าของประเทศ”  

โดยในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารนั้น ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีวัตถุดิบจำนวนมากและหลากหลาย ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สามารถผลิตอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ทุกกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าในเรื่องนี้ ต้องมองว่า ไทยจะมีจุดยืนอย่างไร สินค้าใดที่เป็นสินค้าดาวรุ่ง และควรจะมุ่งไปในทิศทางใด 

ส่วนบริการสุขภาพ ปัจจุบันไทยมีบริการที่หลากหลาย ทั้งบริการดูแลสุขภาพและความเจ็บป่วย ด้านความงาม ด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ ด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องวางแผนล่วงหน้าว่า เมื่อโควิดคลี่คลาย จะผลักดันให้ไทยมีความโดดเด่นในเรื่องบริการสุขภาพอย่างไร  

ขณะที่ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มเติบโต และรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economy ซึ่งไทยจะต้องมีจุดยืนและนโยบายในการขับเคลื่อน ทั้งการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในภาคการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการแพทย์เพื่อสุขภาพ และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ต้องวางแผนในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  , อินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ (loT) , ดิจิทัลคอนเทนต์, คลาวนด์ คอมพิวติ้ง เป็นต้น