พาณิชย์ปลื้ม! ส่งออก มี.ค.สูงสุดรอบ 30 ปี



  • โกยรายได้เข้าประเทศกว่า 2.88 หมื่นล้านเหรียญฯ
  • ส่วนยอด 3 เดือน โต 14.9% คาดทั้งปีโตทะลุเป้า
  • รัสเซีย-ยูเครนซมพิษสงครามติดลบถล่มทลาย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่าเดือนมี.ค.65 การส่งออกมีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.5% เทียบเดือนเดียวกันปี 64 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และถือเป็นมูลค่าส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 34 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 922,313 ล้านบาท เพิ่ม 28.7% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 27,400.6 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม18% คิดเป็นเงินบาท 887,353.2 ล้านบาท เพิ่ม 26.8% เกินดุลการค้า 1,459.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 34,960.1 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 65 การส่งออก มีมูลค่า 73,601.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 14.9% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 คิดเป็นเงินบาท 2.401 ล้านล้านบาท เพิ่ม 14.9% ส่วนการนำเข้า 74,545.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม18.4% คิดเป็นเงินบาท 2.466 ล้านล้านบาท ขาดดุลการค้า 944 ล้านเหรียญฯ หรือขาดดุล 65,209.6 ล้านบาท

โดยมีปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยสนับหนุนการส่งออก ได้แก่ นโยบายการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์,  การจัดทำมาตรการเชิงรุกผลักดันการส่งออกผลไม้, การผลักดันการค้าชายแดน รวมถึงความต้องการสินค้าที่มีมากขึ้น เห็นได้จาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ยังอยู่ในระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อาเซียน ยังอยู่ในระดับ 50 มีโอกาสที่จะซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น, ค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป เริ่มลดลง ในขณะที่บางเส้นทางไม่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่า มีส่วนช่วยทำให้การส่งออกการแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น

สำหรับการส่งออกสินค้าสำคัญ เพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 3.3% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น ข้าว เพิ่ม53.9%, ไก่แปรรูป เพิ่ม 6.6%, มันสำปะหลัง เพิ่ม 6.3% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 27.7% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น น้ำมันพืช เพิ่ม 350%, น้ำตาลทราย เพิ่ม 204.3%, อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 15.5%, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 2% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 20.6% สินค้าสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่ม 71.9%, อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 37.1%, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพิ่ม 36.9% เป็นต้น

ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก คือ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 2,864.7%, เอเชียใต้ เพิ่ม 36.4%,อาเซียนเพิ่ม 34.8%, ตะวันออกกลาง เพิ่ม 29.5%, สหรัฐฯ เพิ่ม 21.5%, สหราชอาณาจักร เพิ่ม14.5%, เกาหลีใต้ เพิ่ม14.5%, ไต้หวัน เพิ่ม 9.4%, แคนาดา เพิ่ม 9.2%, สหภาพยุโรป เพิ่ม 6.9% ส่วนรัสเซียและยูเครน ได้รับผลกระทบจากสงครามชัดเจน โดยรัสเซีย ลด 73% และยูเครน ลด 66.3% 

“หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ซ้ำเติมไปมากกว่านี้ การส่งออกปีนี้น่าจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายขยายตัวไว้ที่ 3-4% มูลค่า 280,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 9 ล้านล้านบาท ถ้าดูสถานการณ์ตอนนี้ ทำได้แล้ว 2.4 ล้านล้านบาท ถ้าแต่ละไตรมาส ทำได้ประมาณนี้ ก็คูณ 4 จะเป็น 9.6 ล้านล้านบาทตัวเลขเกินเป้าหมาย แต่ยังเป็นแค่การประเมิน ต้องดูตัวเลขจริงต่อไป”