พาณิชย์ดิ้นหาทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย



  • หลังปิดตลาดกลางกุ้งมหาชัย ทำขายผลผลิตไม่ได้
  • มีผลผลิตส่วนเกินวันละ 100 ตันอ้อนเอกชนช่วยซื้อเพิ่ม
  • กรมประมงย้ำอาหารทะเล-กุ้งปลอดโควิดกินได้เหมือนเดิม

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมประมง กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง เช่น สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย รวมถึงสมาคมตลาดสดไทย สมาคมภัตตาคารไทย ห้างสรรพสินค้า และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อหามาตรการแก้ไขผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อสินค้ากุ้ง หลังจากที่ปิดตลาดกุ้งมหาชัย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตส่วนเกิน ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือประมาณ 100 ตันต่อวัน 

“จริงๆ ตลาดรับซื้อกุ้งยังไปได้ มีสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มีตลาดกลาง มีห้องเย็น ที่คอยรับซื้ออยู่ ส่วนนี้ซื้อปกติวันละ 500-600 ตัน แต่ก็มีกุ้งส่วนเกินที่ต้องเข้าไปช่วยบริหารจัดการ หรือจัดแหล่งจำหน่ายให้จริงๆ ประมาณวันละ 100 ตัน จึงจะผลักดันหาตลาดรองรับให้ โดยจะขอความร่วมมือให้สมาคมภัตตาคารไทยเข้ามาช่วยซื้อเพิ่ม หรือกระจายไปยังตลาดสด หรือกระจายผ่านห้าง ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ว่าจะเป็นที่ไหนบ้าง” 

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น จะขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ให้ชะลอการจับกุ้งออกไปก่อน เพื่อชะลอปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด แต่หากจำเป็นต้องจับ ก็จะประสานสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยให้เข้าไปช่วยรับซื้อในราคาที่เกษตรกรคุ้มต้นทุน อย่างไรก็ตาม สำหรับกุ้งที่จะนำไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ นั้น จะมีมาตรการดูแลสุขอนามัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะกุ้งไม่ได้เป็นตัวแพร่โควิด-19 แต่อาจจะมาจากตัวผู้ขนส่ง ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเอง จึงต้องมีมาตรการควบคุม 

ด้านนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กุ้งเป็นสัตว์เลือดเย็น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสัตว์น้ำ โอกาสไม่มีเลย การปนเปื้อนของไวรัส จะมาจากผู้ที่สัมผัสกุ้งมากกว่า จึงต้องป้องกันในส่วนนี้ และหากบริโภคสุก จะไม่มีปัญหาเรื่องไวรัสเลย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกุ้งเท่านั้น สัตว์น้ำอื่นๆ ทั้งปลา หอย หากทำตามมาตรการด้านสาธารณสุข ก็ปลอดภัย บริโภคได้ 

ส่วนนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า ขณะนี้ เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดในตลาดกลางกุ้ง เพราะชมรมผู้ค้ากุ้งสมุทรสาคร ประกาศหยุดซื้อขายกุ้งทะเลตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.63- 3 ม.ค.64 และอาจต่อเนื่องไปอีกหากการระบาดยังไม่คลี่คลาย ซึ่งสมุทรสาครเป็นแหล่งรับซื้อกุ้งแหล่งใหญ่ของประเทศ เครือข่ายเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นปัญหาใหญ่ และอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ นำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาโดยเร็ว ไม่เช่นนั้น อาจกระทบต่อเสถียรภาพราคาของกุ้งเลี้ยง และอาจถูกต่างประเทศปฏิเสธการนำเข้า และจะส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลของไทยอย่างมหาศาล

ขณะเดียวกัน ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งพิจารณาสำรวจปริมาณกุ้งที่คาดจะได้รับผลกระทบในครั้งนั้น จัดหาห้องเย็นในเขตปลอดโรคระบาด เพื่อให้เช่าเก็บกุ้งส่วนเกิน พร้อมหาแนวทางเสริมสภาพคล่องให้ห้องเย็น ฟื้นฟูตลาดกุ้งทะเลที่อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครเพียงแห่งเดียว หาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง และเตรียมแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.64