พระราชกำหนดการเงิน 3 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ทางการเงิน 3 ฉบับที่ออกมาแก้ปัญหาผลกระทบจาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ โดยได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ ให้กระทรวงการคลังโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาล ไทยมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อนำเงินไปใช้แก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชนเกษตรกรและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคตลอดจนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค โดยการกู้เงินให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนด้วย

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 มีสาระสำคัญ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้สถาบันการเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาทต่ออีกทอด โดยวงเงินให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก และในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืม จะได้รับชดเชยความเสียหาย ร้อยละ 70 สำหรับสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้าน และชดเชยให้สถาบันการเงิน ร้อยละ 60 สำหรับสินเชื่อเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากนี้ ให้ธปท.มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือลูกหนี้อื่นได้ โดยไม่ให้ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ด้วย

3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศพ. ศ. 2563 มีสาระสำคัญ ให้ตั้ง กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด โดยผู้ออกตราสารหนี้ จะต้องมี แหล่งเงินทุนอื่นมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด และต้องเป็นตราสารหนี้ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ นอกจากนั้น ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังกำหนดด้วยว่าในกรณีที่ตลาดตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรง และมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มิใช่ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ได้ด้วย สำหรับการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพ.ร.ก.นี้ถ้ามีกำไรเกิดขึ้นให้นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท

ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๗ ตอน ๓๐ ก (๑๙ เมษายน ๒๕๖๓)

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0001.PDF

พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0006.PDF

พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0012.PDF