ฝ่ายค้านเริ่มป่วนไม่ร่วมสังฆกรรมโหวตพ.ร.บ.งบปี63

ที่รัฐสภา คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น ร่วมกันแถลงถึงมติของวิปฝ่ายค้าน 

โดยนายสุทิน  แถลงว่า  มติ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 วันพรุ่งนี้ ได้กำหนดให้ ส.ส. ของพรรคร่วมฝ่ายค้านมาปฏิบัติหน้าที่ลงชื่อเป็นองค์ประชุมตามปกติ  เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลผ่านกฎหมายนี้โดยรวดเร็ว ตามความต้องการของสังคม แต่ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมประชุมด้วย  และให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินการ เพราะสาเหตุที่ทำให้กฎหมายงบประมาณต้องสะดุดเกิดจากฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน นอกจากนี้ การที่ไม่ขอร่วมลงมติด้วย  เพราะกังวลว่า อาจจะขัดต่อมาตรา 143 เรื่องกรอบเวลา 105 วัน ซึ่งอาจสุ่มเสียงต่อการกระทำที่ส่อขัดกฎหมาย 

“มติที่ออกมาจะเอื้อให้ร่างพ.ร.บ.ผ่านสภาได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านให้ความร่วมมือด้วยการงดออกเสียงเพื่อให้พ.ร.บ.นั้นผ่านได้ง่าย แต่ก็มีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือ มีการเสียบบัตรแทนกันของฝ่ายรัฐบาล ทำให้พ.ร.บ.งบประมาณต้องสะดุด และต้องมีการพิจารณาใหม่ ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุม เพราะมีความกังวลหลายเรื่อง จึงขอเปิดทางให้ฝ่ายรัฐบาล และไม่ขอกระทำการที่เสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่ชัดเจนว่าจะถูกหรือผิด” นายสุทิน กล่าว 

ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า เรียกร้องให้ สส.ที่เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง หากยังเพิกเฉย ฝ่ายค้านก็จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆต่อไป พร้อมเชื่อมั่นว่า กรณีการเสียบบัตรเเทนกันจะมีเฉพาะในส่วนของ สส. ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีฝ่ายค้านอย่างแน่นอน

“ความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคนต้องมี ซึ่งการรับผิดชอบสูงสุดคือการลาออก ฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและส .ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เสียบบัตรแทนกันรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะทำให้สภาฯ เสียหาย หากไม่แสดงความรับผิดชอบจะยื่นฟ้องอาญาต่อไปหรือไม่ คงต้องให้โอกาสและเวลาฝ่ายรัฐบาลก่อน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว 

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร จึงต้องจำกัดอำนาจไว้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น กรณีนี้ หากศาลเห็นว่า กระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยไม่ชอบ ก็ต้องให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ และการที่ระบุให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติในวาระ 2 และ 3 ใหม่นั้น ถือว่าเป็นการวินิจฉัยเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตจะเกิดปัญหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นซูเปอร์รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ ทั้งตุลาการ นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ตามระบอบประชาธิปไตย