ผ่าแผน!! ททท.เชียงใหม่ปี’66 ตั้งเป้าปั๊มรายได้เฉียด 7 หมื่นล้าน การบินฟื้นแล้วไทย 2.6 แสนที่นั่ง-ต่างชาติ 1.68 หมื่นที่นั่ง/เดือน



  • ททท.เชียงใหม่ผ่าแผนท่องเที่ยวปี’66 ตั้งเป้าเฉียด 7 หมื่นล้านบาท
  • “3 เพิ่ม” มีสัญญาณดีตารางบินฤดูหนาวคึกคัก “ในประเทศ” กลับมาบิน 80 % เดือนละ 1,497 เที่ยว 264,000 ที่นั่ง
  • “ต่างประเทศ” มาแล้ว 60 % จาก 6 แอร์ไลน์ส 11 เส้นทาง ลุยบินเดือนละ 74 เที่ยว 16,680 ที่นั่ง

นางสาวสุลัดดา ศรุติลาวัณย์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้วางแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ประจำปีงบประมาณ 2566 เริ่มเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ตั้งเป้าเร่งเดินหน้าสร้างรายได้ตลอดปี 2566 เข้าสู่เชียงใหม่ฟื้นกลับมาให้ได้ประมาณ 69,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ60 % ของปี 2562 ทำไว้ 1.1 แสนล้านบาท ปัจจุบันปี 2565 ตั้งเป้าไว้ 5.5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ได้มาแล้วประมาณ3.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 70 % คาดไตรมาส 4 ช่วง 3 เดือนสุดท้าย ตุลาคม-ธันวาคม 2565 เป็นฤดูท่องเที่ยวมีกิจกรรมมากมายในช่วงหน้าหนาวน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 5.5 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

สำหรับรายได้ตามเป้าหมายใหม่ปี 2566 เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติปี 2562 เชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.1 แสนล้านบาท มีจำนวนนักท่องเที่ยว  11.6 ล้านคน-ครั้ง เมื่อเข้าสู่วิกฤตสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปี 2563 รายได้ลดจากปี 2562 ประมาณ 60 % และปี 2564 ลดจากปี 2563 อีกประมาณ 50 %

ดังนั้นปี 2566 ททท.เชียงใหม่จะเร่งนำการท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจกลับมาคึกคักจากนักท่องเที่ยวครอบคลุมมิติด้วยไฮไลต์การเพิ่มจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนที่ 1 เพิ่มวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเมืองไทยขยับเป็น 4 วัน/คน/ทริป จากปัจจุบัน 2.8 วัน/คน/ทริปจึงเล็งเจาะกลุ่มกำลังซื้อกลุ่มครอบครัว โดยมีกิจกรรมเสริมกระตุ้นการเดินทางเพิ่มวันพักแคมเปญ “Buy More Get More/ยิ่งพัก ยิ่งได้” เช่น เดินทางเที่ยว 4 คน ซื้อ 3 แถม 1 หรือจองที่พัก 4 คืน ฟรี 1 คืน

ส่วนที่ 2 เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว ปัจจุบันใช้เงินเฉลี่ยเกือบ 8,000 บาท/คน/ทริป ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายด้าน อาหารและเครื่องดื่ม ที่พัก ของที่ระลึก บันเทิง พาหนะ เล็งกลุ่มเป้าหมาย “นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้หญิง” เป็นหลัก จึงได้จัดกิจกรรมรองรับคือ “ภิรมย์ล้านนา” ตอบโจทย์ตลาดทั้งภูมิภาคภาคเหนือ จะนำสินค้ามาเพิ่มมูลค่า

พร้อมทั้งจัดกิจกรรมกระตุ้นการใช้เงิน เช่น 1.ล่องเรือแม่ปิงชมวิถีชีวิตธรรมชาติพร้อมกับจิบไวน์ตกกับอาหารล้านนาขึ้นชื่อควบคู่ไปด้วย 2.ท่องเที่ยวโดยรถไฟขานรับธีม “ย้อนเสน่ห์วันวาน เมืองเหนือ” นำอาหารเมิชลินเสิร์ฟบนรถไฟในเชียงใหม่ได้รับการประกาศบิ๊บคุมองต์  และมิชลินเพลท มากกว่า 50 ร้าน สามารถขยายผลต่อยอดร้านอาหารรางวัลมิชลินทั้งหมด 3.การขายของที่ระลึกศิลปะหัตถกรรมล้านนา จัดทำเป็น “ภูษาเวียงพิงค์” การยกระดับผ้าพื้นเมืองให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ 4.เที่ยวเส้นทางดอกไม้ “บุปผาเวียงพิงค์” จะเริ่มปี 2566

ส่วนที่ 3 เพิ่มความถี่การเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยจะทำกิจกรรมกับกลุ่มเจนวาย และกลุ่มทำงานได้เที่ยวด้วยหรือเที่ยวได้งาน Worakation ซึ่งสามารถเพิ่มการเข้าพักช่วงวันธรรมดา วันจันทร์-วันพฤหัสบดี มากขึ้นเพราะกำลังซื้อกลุ่มนี้ไม่มีข้อจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวทั้งวันเวลาและสถานที่

โดย ททท.วางแผนเพิ่มความถี่ให้คนมาเที่ยวซ้ำ ๆ ด้วยกิจกรรม 1.จัดเทศกาลงานศิลปะและดนตรีท้องถิ่นล้านนาLocal Art & Craft รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเจนวายและเวิร์คเคชั่น 2.จัดAmazing Dark Sky ร่วมกับทางชุมชนออนใต้ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ฟ้ามืดสามารถมองเห็นดาวช่วงฟ้าเปิดอย่างชัดเจน และ NARIT คืออุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกลุ่มแคมปิ้งและ Glamping ช่วงเดือนธันวาคม 2565 เป็นช่วงฟ้าเปิด ททท.เตรียมจัดกิจกรรม One Day One Night Roadtrip เข้ามากางเต็นท์ดูดาวในพื้นที่ชุมชนออนใต้ ซึ่งจะเพิ่มทั้งความถี่และรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ “นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเชียงใหม่” ปัจจุบันยังเป็นคนไทย 95 % ต่างชาติ 5 % ขณะนี้ต่างชาติยังไม่กลับมา 100 % ตามสถานการณ์ปกติก่อนโควิดโครงสร้างนักท่องเที่ยวในเชียงใหม่จะประกอบด้วย คนไทย 75 % ต่างชาติ 25 %

เมื่อนักท่องเที่ยวคนไทยสูงจึงมีผลต่อ “ยอดเงินค่าใช้จ่าย” เพราะคนไทยใช้เงินไม่ได้สูงมาก โดยมีทั้ง “กลุ่มไม่พักค้างคืน” จึงไม่มีรายได้จากค่าที่พัก กับ “กลุ่มพักค้างคืน” เดินทางโดยรถยนต์ของคนภาคเหนือเที่ยวในภาคเหนือกันเองเกินกว่า 50 % แตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้เงินสูงกว่าหลายเท่า เดินทางโดยเครื่องบิน จึงมีรายได้ตรงจากค่าเดินทาง ค่าที่พัก อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยม ช่วงตารางบินฤดูหนาวปี 2565-ต้นปี 2566 จึงมีสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มที่นั่งและความถี่เที่ยวบินเข้ามามากขึ้น โดยศักยภาพของสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ยประมาณวันละ 30,000 คน ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณวันละกว่า 20,000 คน คิดเป็นกว่า 70 %

ช่วงตารางบินฤดูหนาวแบ่งเป็น “เที่ยวบินในประเทศ” 1,497 เที่ยว/เดือน จำนวนที่นั่ง 264,784 ที่นั่ง/เดือน ช่วงปลายปีนี้สายการบินจึงมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยสูงเกินกว่า 80 % เที่ยวบินโดยรวมเชื่อมโยงมาจากทุกภาคของไทยเข้าสู่เชียงใหม่ ได้แก่  “ภาคกลาง” จากสนามบินดอนเมือง “ภาคอีสาน” จากขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี “ภาคตะวันออก” จากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาชลบุรี ระยอง “ภาคใต้” จากภูแก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และ “ภาคเหนือ”ด้วยกันก็มีจากแม่ฮ่องสอน

“เที่ยวบินระหว่างประเทศ” ไป-กลับ เชียงใหม่ กลับมาเปิดบริการบินตรงแล้วประมาณ 60 % รวม 6 สายการบิน 11 เส้นทาง รวมสายการบินที่เตรียมเปิดปลายปีนี้ด้วย ทำให้มีเที่ยวบิน 74 เที่ยว 16,980 ที่นั่ง มาจากเช่น สิงคโปร์กัวลาลัมเปอร์ เกาหลีใต้ 2 เมือง จากอินชอนกับปูซาน เวียดนาม 3 เมือง จากโฮจิมินห์ ฮานอย ดานัง สปป.ลาว 2 เมือง จากเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง และเมืองไทเป ไต้หวัน

ตอกย้ำถึงการเดินทางเข้าถึงจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากทางอากาศโดยเครื่องบินแล้ว นักท่องเที่ยวคนไทยยังขับรถยนต์ส่วนตัวท่องเที่ยว และมาเช่ารถในเชียงใหม่ท่องเที่ยว

ปลายปี 2565 เชียงใหม่จะมีเทศกาลท่องเที่ยวรายการใหญ่ “ลอยกระทง” และ “เคาน์ดาวน์” ททท.ตั้งเป้ารุกเจาะ“ตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไป” ซึ่งมีหลายเซกเมนท์ เช่น กลุ่มที่ 1 ครอบครัวคนรุ่นใหม่ Millenial Family กลุ่มที่ 2 เจนวาย กลุ่มที่ 3 แคมปิ้งแกลมปิ้ง กลุ่มที่ 4 ทำงานได้เที่ยวด้วย workation ส่วน “ตลาดคุณภาพสูง” กลุ่มที่ 1 เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปในพื้นที่มากขึ้น กลุ่มที่ 2 ได้รับรางวัลเดินทางท่องเที่ยวหรืออินเซนทีฟ ซึ่งมีขนาดใหญ่แต่ละทริปสามารถพักค้างคืนและใช้เงินจำนวนมาก

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen