ผ่านฉลุย…ครม.เห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10 -ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระเพิ่มอีก 2 ปี



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า วันนี้ ( 28 ก.พ.66) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ 1) มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 10 (โครงการ PGS ระยะที่ 10) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 2) การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (โครงการสินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระ) ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) โครงการ PGS ระยะที่ 10 วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขและวงเงินค้ำประกันของโครงการย่อยภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 10 ได้ตามความเหมาะสม อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ยทั้งโครงการไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการเฉลี่ยทั้งโครงการไม่เกินร้อยละ 30 รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท

2) ขยายเวลาชำระเงินกู้โครงการสินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระเพิ่มอีก 2 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี เป็นไม่เกิน 5 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลต่อประวัติการชำระหนี้ในระบบเครดิตบูโร ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน

นายอาคม กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกอบการและประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเพียงพอ โดยติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ รวมถึงพิจารณาข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ รวมทั้งปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับโครงการสินเชื่ออาชีพอิสระนั้น ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้ปล่อยสินเชื่อในวงเงินรวมธนาคารละ20,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อ 1.98 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 19,000 ล้านบาท โดยยังมียอดคงค้าง 6,669 ล้านบาท ส่วน ธ.ก.ส. มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 9.1 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 9,086 ล้านบาท ซึ่งยังมียอดคงค้าง 2,346 ล้านบาท