ผ่าธุรกิจซื้อขายโรงแรมทั่วไทยหลังวิกฤตโควิดฝืดสุด “กลุ่มทุน” ไทย-ต่างชาติเลือกได้ ชี้ต้องมีดีครบ 4 ปัจจัย



  • วัดปรอทซื้อขายโรงแรมทั่วไทยหลังวิกฤตโควิด “เจ้าของ” ผ่องถ่ายกิจการด้วย 2 ปัจจัย
  • “ทำมานานเบื่อ+สายป่านเงินหมดหน้าตัก
  • ด้าน “ผู้ซื้อกลุ่มทุน” เลือกได้ยอมควักจ่ายต่อเมื่อต้องมีดีครบ 4 ตัวแปร
  • ทั้งทำเล โปรดักซ์ ใส่เงินแล้วมีโอกาสรอด ต่อยอดได้
  • ผ่าธุรกิจ 3 ขนาด “โรงแรมใหญ่” ปรับตัว 360 องศา “โรงแรมขนาดกลาง” อยู่สบาย และ “ขนาดเล็ก” ถึงทางตัน
  • ส่วนกลยุทธ์ทุ่มเงิน “หันซบอก เชนอินเตอร์” ต้องมีแบรนด์ใหม่ๆ มาล่อใจ

นายธรรมจักร เหลืองประเสริฐ President & CEO อาจารย์ณาแอสเสท เมเนจเมนท์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า สถานการณ์ในอุตสาหกรรมโรงแรมเมืองไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ความเคลื่อนไหวเรื่องการซื้อขายกิจการโรงแรมตามข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ จำนวนยอดการขายยังมีไม่มาก จะมีเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ กับภูเก็ตส่วนการตัดสินใจแยกเป็น “ผู้ขายหรือเจ้าของโรงแรม” ขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงแรมอายุมากแล้วทำธุรกิจมานานลูกหลานไม่สนใจรับไม้ต่อ ปัจจัยที่ 2 ภาวะทางเศรษฐกิจตลอดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องหยุดบริการชั่วคราว เมื่อกลับมาเปิดใหม่จะต้องควักเงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมากปรับปรุงโรงแรม ต้องจ้างบุคลากรที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อลดภาระต่าง ๆ ให้เบาลงก็จะประกาศขายในตลาดกับนักลงทุนที่มีความพร้อมเข้ามาบริหารต่อไป

“ทางกลุ่มผู้ซื้อโรงแรม” จะเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งให้น้ำหนักกับตัวแปร 4 ปัจจัยหลัก คือปัจจัยที่ 1 “เส้นทางหรือทำเล” ที่ตั้งของธุรกิจ คือหัวใจหลักจะต้องเป็นกรุงเทพฯ ภูเก็ต ปัจจัยที่ 2 โปรดักซ์มีคุณภาพและโอกาสทางธุรกิจมากน้อยขนาดไหน ปัจจัยที่ 3 ผลประกอบการ หากใส่เงินลงทุนเข้าไปแล้วสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่ ปัจจัยที่ 4 สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนโรงแรมในไทยตอนนี้แต่ละขนาดต่างก็มีการแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกแตกต่างกันประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 โรงแรมขนาดใหญ่เงินลงทุนหนาอาจอยู่รอดได้ตัวเอง ยกเว้นไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ปรับปรุงกิจการใช้วิธีดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ก็มีโอกาสเจอทางตันได้เหมือนกัน

กลุ่มที่ 2 โรงแรมขนาดกลาง หากต้องปรับปรุงโปรดักซ์โรงแรม และบริหารองค์กร มีวิธีแก้ไขปัญหาฟื้นฟูการลงทุนได้ง่ายเอาตัวรอดได้จากสถานการณ์วิกฤต

กลุ่มที่ 3 โรงแรมขนาดเล็ก จะเผชิญสภาพสาหัสมากที่สุด ต่อให้ฉีกแนวขนาดไหนก็น่าจะลำบากอย่างแน่นอน

สำหรับ “โรงแรมเมืองไทย” มีบางส่วนตัดสินใจจะหันไปพึ่งพาการจ้างบริหารโดย “เชนสากล” มีมากสุดในภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความชัดเจนมายาวนานแล้ว เนื่องจากโรงแรมเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะเน้นจ้างเชนบริหาร แต่ในกรุงเทพฯ อาจจะมีบางโรงแรม ซึ่งต้องยอมรับสถานการณ์ปัจจุบันเชนโรงแรมทั่วโลกเทมาอยู่ในเมืองไทยเกือบหมดแล้ว จึงทำให้โรงแรมจำนวนมากใช้ชื่อเชนนำหน้าคล้าย ๆ กัน กลายเป็นของเก่าไป ตอนนี้จะต้องหาจุดขายใหม่ด้วยการสร้าง“แบรนด์ใหม่” เพื่อดึงดูดโรงแรมเข้ามาอยู่ในกลุ่มเชนให้ได้มากที่สุด

นายธรรมจักร กล่าวว่า กลยุทธ์การทำตลาดโรงแรมเปรียบเทียบก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากของไทยและทั่วโลก เพราะ “เซกเมนท์ตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยว” เปลี่ยนแปลงไปมากไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากนี้เป็นต้นไปโรงแรมจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่เร่งทำตลาดเชิงรุก โดยเฉพาะหน่วยงานเอกชนท่องเที่ยวจะต้องดูแลกันมากกว่าปกติ เพราะจะพึ่งพาภาพใหญ่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้อีกต่อไป

ขณะที่ “ตลาดเทรนด์ใหม่จากต่างประเทศ” ทั่วโลกที่เหมาะกับไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อันดับแรก คือกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวม หรือ Health and Wellness เพราะคนทั่วโลกต้องการความปลอดภัยเรื่องสุขภาพอย่างมาก อันดับรองลงไป หลัก ๆ คือ กลุ่มใหม่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำเสนอก็ตรงตามโจทย์ภาพใหญ่ของประเทศ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่เดินทางเป็นครอบครัวพร้อมลูก ๆ กลุ่ม Digital nomad เดินทางทำงานได้ท่องเที่ยวด้วยพักแต่ละแห่งนาน กลุ่มผู้สูงวัยที่มีเงินพร้อมการใช้จ่ายตลอดการพักผ่อน

ไฮไลต์คือผู้ประกอบการและผู้บริหารโรงแรมจะต้อง “ปรับกลยุทธ์ด้านโครงสร้างบริการ”   เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดโดยเฉพาะการจ้างคนกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมโรงแรม จะต้องดูแลบุคลากรคนทำงานที่มีคุณภาพ โดยผู้บริหารจะต้องรู้วิธี ปรับเปลี่ยนทัศนคติอาชีพ รักองค์กร และดูแลผลประโยชน์องค์กร ส่วนการบริหารจัดการผู้บริหารแต่ละองค์กรควรจะต้องลงมาคลุกคลีพนักงานหน้างานเพื่อเรียนรู้ปัญหาไปด้วยกัน เพื่อทำให้โครงสร้างและนำพาองค์กรหลอมลวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

นายธรรมจักรยืนยันว่า “กิจกรรมเทรนด์ใหม่ของโรงแรมเมืองไทย” ที่ควรจะให้ความสำคัญลงมือทำอย่างเต็มที่ต้อนรับโลกยุคใหม่หลังซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้ว กิจกรรมที่ 1 โรงแรมจะต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์สร้างประโยชน์เชิงสร้างสรรค์กับชุมชนรอบพื้นที่ กิจกรรมที่ 2 ต้องปรับวิธีทำการตลาดเพิ่มช่องทางแนวใหม่อย่างออนไลน์ ดิจิทัล จากเดิมจะเน้นขายผ่านบริษัทตัวแทน (agent) เพื่อให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยสร้างเอกลักษณ์นำเสนอความโดดเด่นของโรงแรมให้ชัดเจน สร้างความแตกต่างให้ผู้ใช้บริการสัมผัสได้

กิจกรรมที่ 3 สร้างความตื่นตัวทำกิจกรรมภายในกระตุ้นการจัดส่งเสริมการขายตามฤดูกาลควบคู่ไปด้วย กิจกรรมที่ 4 การสร้างความยั่งยืน Sustainable ซึ่งเป็นกระแสของตลาดทั่วโลก เป็นภารกิจของโรงแรมต่าง ๆ มีศักยภาพด้านใดก็ให้เร่งทำ เพราะจะได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ Win Win ทั้งคนในโรงแรม ชุมชนสังคมรอบข้าง และนักท่องเที่ยวในประเทศและทั่วโลก ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ให้ความสำคัญใส่ใจสิ่งแวดล้อมสูงเป็นอันดับต้น ๆ จึงตัดสินใจควักเงินจ่ายเพื่อเลือกใช้บริการ 

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวเรื่องการซื้อขายกิจการโรงแรมของไทยมีต่อเนื่องมาตลอดเมื่อเกิดวิกฤตการเดินทางทั่วโลกในแต่ละเหตุการณ์ แต่หลังโควิดปี 2565 เนื่องจากทั่วประเทศมีห้องพัก โรงแรม  รีสอร์ต รวมกันเกินกว่าล้านห้องมากกว่าความต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ จึงส่งผลทำให้เกิดกระแสการประกาศขายโรงแรมเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ซื้ออยู่ในช่วงเลือกได้ทั้งเรื่องราคา ทำเลที่ตั้ง โอกาสทางธุรกิจ เพื่อนำมาพัฒนาสร้างรายได้เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังปี 2566 เป็นต้นไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen