ผู้บริหารสาธารณสุขเรียงหน้ากระดานแจงฝ่ายค้านยันยอดติด เชื้อลดจริง-เหตุมาจากคนไทยช่วยกัน



วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นวัคซีนซิโนแวค เพื่อชี้แจงต่อคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ประเมินผลการฉีดวัคซีนในโลกความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น การฉีดซิโนแวค จ.ภูเก็ต พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ประมาณ 90.6% ส่วน จ.สมุทรสาคร ที่ระบาดเมื่อปลายปี 2563 พบว่าประสิทธิผลการป้องกันโรคอยู่ที่ 90% เมื่อมีการระบาดในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุขที่ จ.เชียงราย พบว่า ประสิทธิผลป้องกันโรคอยู่ที่ 82% ขณะเดียวกัน กองระบาดวิทยา ได้สรุปผลการฉีดวัคซีนตั้งแต่ ก.พ. จนถึงปัจจุบัน ภาพรวมประสิทธิผลการป้องกันโรคอยู่ที่ 75% ป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตมากกว่า 80% ขึ้นไป

ทั้งนี้ยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคที่เรามาใช้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ซึ่งเราใช้มาตั้งแต่ที่ยังไม่มีสายพันธุ์เดลต้า พบว่ามีประสิทธิผลอย่างดี และเมื่อมีเดลต้าทางกระทรวงสาธารณสุขก็คิดวิธีเพิ่มประสิทธิผลวัคซีน ด้วยการฉีดสูตรไขว้ เป็นซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยฯ ได้ร่วมกันวิจัย ซึ่งผลสอดคล้องกัน พบว่า ประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมกว่า 3 เท่า

”องค์การอนามัยโลก สั่งซื้อซิโนแวคหลายร้อยล้านโดส เพื่อกระจายไปประเทศต่าง ๆ เป็นสิ่งเตือนใจพวกเราว่าอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค ซึ่งทำให้ประเทศเราพ้นจากการระบาดมาหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วย กรุณาอย่าทำให้ประชาชนหวาดกลัวจนไม่ไปรับวัคซีน ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในวัคซีนที่เรามี ประสิทธิภาพวัคซีนจะทำให้ประชาชน และประเทศปลอดภัยจากโควิดในอนาคต” นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนข้อสงสัยเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลง นพ.โอภาส ยืนยันว่าตัวเลขที่เราวิเคราะห์ แจกแจงต่อประชาชนทั่วประเทศ และทั่วโลก เราเก็บรวบรวมจากหลายหน่วยงาน มีระบบวิเคราะห์ตามปกติที่เราดำเนินการกว่าปี ดังนั้น ตัวเลขต่าง ๆ เชื่อถือ และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตัวเลขที่ลดลงเกิดจากความร่วมมือของประชาชนที่อดทน ร่วมกันล็อกดาวน์ ออกจากบ้านน้อยลง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และร่วมกันฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ยืนยันตัวเลขได้จากจำนวนผู้ป่วยใน รพ.บุษราคัม และ รพ.ในต่างจังหวัด มีการลดลงจริง ไม่ล้นแออัดอย่างที่เคยเป็นมา

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กล่าวว่า ตนให้ความมั่นใจวัคซีนซิโนแวค หรือชื่อทางการค้าคือ โคโรนาแวค ว่ามีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผล ผู้ผลิตได้นำเอกสารกว่าหมื่นหน้ามาขึ้นทะเบียน โดย อย. ใช้เวลา 29 วันในการพิจารณาอนุมัติใช้ในประเทศ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศไว้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า บุคลากรการแพทย์ ประเทศบราซิล ซึ่งกลุ่มศึกษามีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง เกิดโรคได้ง่าย พบว่า สามารถป้องกันอาการของโรคได้ ป้องกันการเข้าโรงพยาบาลได้ 78% ลดอัตราเสียชีวิตได้ 100% ได้ประสิทธิผลมากกว่า 50% นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลก ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค และได้สั่งซื้อวัคซีนหลายร้อยล้านโดสเพื่อฉีดให้ประชากรโลก

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนทุกล็อตที่เข้ามาถึงประเทศไทย กรมวิทย์ฯ จะต้องรับรองรุ่นการผลิต(Lot release) ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ดูเพียงเอกสาร แต่บ้านเรามีศักยภาพตรวจวัคซีน โดยซิโนแวคทุกล็อตเราตรวจสอบ 2 อย่าง คือ ความปลอดภัย และคุณภาพวัคซีน ยืนยันว่า ทุกล็อตผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีประสบการณ์ผลิตมาอย่างยาวนาน ผลข้างเคียงน้อยมากที่สุด ส่วนการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์เดลต้า

ล่าสุด เราทดลองร่วม ม.มหิดล ได้เราตัวอย่างเลือดอาสาสมัครที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มจำนวนมาก พบว่า ยังสามารถป้องกันเดลต้าได้ โดยเฉพาะการฉีดสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จะป้องกันได้มากขึ้นพอ ๆ กันการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ทั้งนี้ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไปไม่ได้เสียเปล่า หากเมื่อเดือนก.พ. 64 เราไม่มีการฉีดซิโนแวค ก็จะมีภาพคนป่วย คนเสียชีวิตมากกว่านี้หลายเท่า