ผลแก้ไขหนี้ประชาชนรายย่อย บุคคลธรรมดาไกล่เกลี่ย 2.98 ล้านล้านบาท

ครม.รับทราบผลการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย บุคคลธรรมดาเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน 3.95 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท

  • ลูกหนี้กยศ. 4.6 ล้านรายและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย
  • SMEsได้รับการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 279,685 บัญชี
  • โครงการพักทรัพย์พักหนี้ จำนวน 466 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่18ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบ สรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ โดยคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – มีนาคม 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ อันจะเป็นส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยเน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างหนี้/ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และ (2) การกำหนดมาตรการ Quick Win ที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณแต่ช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ของประชาชนได้

ทั้งนี้มีผลการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สินได้ง่ายและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ประกอบด้วย ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.6 ล้านรายและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ลูกหนี้บุคคลธรรมดาเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน 3.95 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ทั้งสิ้น 1.58 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Special Financial Institutes : SFIs) 2.36 ล้านบัญชี

ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium  Enterprises : SMEs) ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านโครงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น โครงการทางด่วน แก้หนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 279,685 บัญชี และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ จำนวน 466 ราย และการแก้ไขหนี้สินข้าราชการในกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจให้สามารถเข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกหลัก 

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัญหาที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและกำลังซื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวมีความยั่งยืน จำเป็นต้องมีการกำหนดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญรับผิดชอบอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน