

- ห่วงเด็ก-เยาวชนเสพติดเกิดปัญหาสังคม
- ส่วนที่เห็นด้วยเพราะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์
- แต่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ-มีบทลงโทษ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึงผลสำรวจความเห็นประชาชนต่อนโยบายกัญชาเสรี ที่สำรวจประชาชน 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 5-15 ก.ค.65 ว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ 58.3% ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรี เพราะห่วงการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ก่อให้เกิดการเสพติด การใช้เกินขนาดในยารักษาโรค เกิดปัญหาสังคมจากการใช้กัญชา ส่วนอีก 41.7% เห็นด้วยเพราะจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสันทนาการ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และควรมีบทลงโทษที่รุนแรงเมื่อมีการทำผิดกฎในการใช้กัญชา รวมทั้งกำหนดขอบเขตการเปิดเสรีให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ผู้ตอบยังเห็นว่า การเปิดเสรีกัญชาจะเกิดผลเสียในต่างๆ โดยเฉพาะผลเสียต่อเด็กและเยาวชน ต่อสังคมและมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ให้ความรู้/สร้างความตระหนักรู้ถึงผลดี ผลเสีย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, กำหนดปริมาณการบริโภค/การใช้ให้ชัดเจน, กำหนดกลุ่มอายุผู้ใช้, กำหนดสถานที่ในการใช้, มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา พร้อมบทลงโทษ, เร่งพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจสอบว่ามีส่วนผสมของกัญชาเกินมาตรฐานหรือไม่
“ผลสำรวจสะท้อนว่า ประชาชนมีความกังวลเชิงลบทางสังคม แต่ไม่ปฏิเสธว่า กัญชา มีประโยชน์และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตสินค้า และเกษตรกร ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสนับสนุนให้ความรู้ทำการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพราะปลายทางจะเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ทำยารักษาโรค และอาหารเพื่อสุขภาพ”
อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกกัญชง-กัญชา เพื่อประเมินมูลค่าการตลาด พบว่า ล่าสุด เดือนเม.ย.65 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กว่า 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ 9,615 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่อดอกแห้ง 8,123 ล้านบาท ใบแห้ง 1,128 ล้านบาทเมล็ด 140 ล้านบาท ส่วนอื่นๆ 224 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์กลางน้ำ 14,690 ล้านบาท ประกอบด้วย สารสกัดเข้มข้น12,410 ล้านบาท น้ำมันกัญชา/น้ำมันกัญชง 1,383 ล้านบาท เส้นใยกัญชง 896 ล้านบาท
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ 3,750 ล้านบาท ประกอบด้วย ยารักษาโรคและอาหารเสริม 1,500 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 1,200 ล้านบาท เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 800 ล้านบาท เครื่องนุ่งห่มและของใช้ส่วนตัว250 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 68 จะอยู่ที่ 42,800 ล้านบาท เติบโตได้10-15% จากปัจจุบัน โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจะเติบโตเร่งกว่าปัจจุบัน คาดว่า จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง 800,000-1.2 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อไร่ต่อปี หากเทียบกับการปลูกข้าว เกษตรกรจะมีรายได้จะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อปีเท่านั้น