ปิดฉาก48ปี“เดอะเนชั่น”

  • 1 ก.ค.นี้ เตรียมลุกออนไลน์เต็มตัว
  • จาก”เดอะ เนชั่น”เป็น”เดอะ เนชั่น ไทยแลนด์”
  • กระดาษอาจไม่ใช่เพียงคำตอบเดียว

“ใจหาย”ในภาวะที่มีการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ได้รับผลกระทบมีการปิดตัวลง ล่าสุดถึงคิวของ “หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น”ที่ตีพิมพ์เป็นฉบับสุดท้ายวันนี้ที่28มิ.ย. ก่อนเปลี่ยนไปสู่สื่อออนไลน์วันที่ 1 ก.ค.นี้ ใช้ชื่อว่า เดอะ เนชั่น ไทยแลนด์ หลังจากเผชิญกับภาวะของยุคที่พฤติกรรมของคนอ่านเปลี่ยนไปบริโภคสื่อออนไลน์ จึงทำให้ต้องปรับตัว

โดยเนื้อหาฉบับสุดท้าย เน้นเล่าเรื่องการทำงานในอดีตที่ผ่านมาของเดอะ เนชั่น และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงโลกอนาคตที่คนต้องเผชิญ กองบรรณาธิการจึงฝากไว้ในฉบับสุดท้าย

สำหรับหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “เดอะ วอยซ์ ออฟ เนชั่น” (The Voice of Nation) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2514 หรือเมื่อ 48 ปีก่อน ก่อตั้งโดยนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น หม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร และนายธรรมนูญ มหาเปารยะ หลังลอร์ดทอมสันแห่งฟลีท (Lord Thomson of Fleet) จากประเทศอังกฤษ เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ นายสุทธิชัยซึ่งขณะนั้นเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ เห็นว่าเป็นการผูกขาดวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ

ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อรัฐประหารในวันที่ 6 ต.ค. 2519 มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยทุกฉบับ นายสุทธิชัยจึงนำใบอนุญาตที่เคยทำสำรองไว้ก่อนหน้านั้น ออกหนังสือพิมพ์ชื่อใหม่ว่า เดอะ เนชั่น รีวิว (The Nation Review) แล้วเปลี่ยนมาเป็นเดอะเนชั่นเมื่อปี 2528 มาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจเปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษาไทย กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ข่าวทั่วไปภาษาไทย คมชัดลึก วิทยุเนชั่น รวมทั้งสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ผลิตให้ยูบีซี 8 ก่อนบุกเบิกทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล

ด้านนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ให้สัมภาษณ์ว่าในยุคปัจจุบันกระดาษอาจไม่ใช่เพียงคำตอบเดียว แม้ว่าบางคนจะมีความหลงไหลหรือรู้สึกดีที่ได้จับกระดาษ แต่สิ่งสำคัญคือข้อมูลและที่มาของข้อมูลนั้น ซึ่งมันสะท้อนได้ว่า 40-50 ปีที่ผ่านมา กระดาษได้นำพาข่าวสารไปสู่คนอ่าน และอีก 50 ปีต่อไปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็จะนำพาข่าวสารเดิมไปสู่ผู้อ่าน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ดังนั้นสื่อมวลชนรุ่นใหม่ต้องมีความรู้และความสามารถรอบด้าน สร้างความแตกต่าง ซึ่งถือเป็นความยากและความท้าทายในยุคใหม่